วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"วิชาความรู้ที่แต่ละคนมีอยู่เป็น ปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานสร้างฐานะ ความเจริญมั่นคงของตนเองและบ้านเมือง แต่นอกจากนั้น บุคคลยังต้องอาศัยคุณธรรมอีกหลายอย่างเป็นพื้นฐานรองรับและส่งเสริมวิชาการ เพื่อให้สำเร็จความมุ่งหมายได้โดยสมบูรณ์ คุณธรรมข้อแรกคือ การระมัดระวังพิจารณาเรื่องราวและปัญหาทุกอย่างด้วยจิตใจที่มั่นคง และเป็นกลางปราศจากอคติ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นเหตุ เห็นผลเห็นสาระของเรื่องได้อย่างถูกต้อง ทำให้สามารถจำแนกความถูกผิด ดีชั่ว และปฏิบัติตน ปฏิบัติงานได้ถูกถ้วน เที่ยงตรง พอเหมาะพองาม ข้อที่สอง คือ ความจริงใจต่อฐานะหน้าที่ของตน ไม่หลอกลวงตนเอง ไม่หลอกลวงกันและกัน อันเป็นมูลเหตุสำคัญของความผิดพลาดล้มเหลวของภารกิจทั้งปวง ความจริงใจนี้ทำให้บุคคลเข้าถึงกัน เข้าถึงงาน เข้าถึงเป้าประสงค์ได้โดยตรง และช่วยให้สามารถสร้างสรรค์ความดี ความเจริญได้โดยอิสระ คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ
         พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๖

สามสมอสมาคม จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๗

วันนี้ (๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมสามสมอสมาคม เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๗ ณ ห้องเกียรตินาวี ราชนาวีสโมสร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
         สามสมอสมาคม จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของสมาคมในรอบปี ที่ผ่านมา รับรองงบดุล และการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมชุดใหม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับสามสมอสมาคม
         ขอเชิญศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือที่ยังมิได้เป็นสมาชิกสามสมอสมาคม และประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิก สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามสมอสมาคมได้ ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีนี้ โดยมีค่าใช้จ่าย จำนวน ๔๐๐ บาท และรูปถ่ายหน้าตรงขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป (ที่มา : สามสมอสมาคม)

ทัพเรือภาคที่ ๑ ประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจในการตรวจเรือประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ไม่เป็นไปตามกฎและข้อกำหนด IUU

วันนี้ (๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เวลา ๑๓.๓๐ น. นาวาเอก สำเริง จันทร์โส รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ ๑ /รองหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต ๑ เป็นหัวหน้าชุดในการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจในการตรวจเรือประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองกำกับการ ๔ กองบังคับการตำรวจน้ำ, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสมุทรสงคราม, หน่วยสืบสวนปราบปรามสมุทรสงคราม กรมศุลกากร,ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเลอ่าวไทยตอนใน สมุทรปราการ, ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๒ สมุทรสาคร, สำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสงคราม, สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม, สำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสงคราม และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ไม่เป็นไปตามกฎและข้อกำหนด IUU ณ ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดสมุทรสงคราม
         ตามที่ EU หรือสหภาพยุโรป ได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำประมงเพื่อให้ปลาที่นำไปขายในสหภาพ ยุโรป ถูกจับโดยกระบวนการที่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing : Illegal ผิดกฎหมาย Unreported ขาดการรายงาน Unregulated ไร้การควบคุม) ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย โดยเห็นว่าการค้าสินค้าประมงที่ผิดกฎหมายเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม มุ่งเน้นที่จะลดปริมาณการลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ในน่านน้ำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ และ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีการป้องกันการทำประมงแบบ IUU ดังนี้
         - มีกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการประมง เช่น พระราชบัญญัติประมง ประกาศกระทรวงเกษตรฯ ประกาศจังหวัด เป็นต้น
         - มีการจดทะเบียนเรือ การออกใบอนุญาตใช้เรือ การออกอาชญาบัตร การออกใบอนุญาตผู้ประกอบการด้านการประมง (ใบ อ.๖)
         - มีการป้องกัน ตรวจตราเฝ้าระวังผู้กระทำผิดกฎหมายประมง
         - มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง และตรวจตราเฝ้าระวัง ผู้กระทำผิดกฎหมาย
          สิ่งที่เรือประมงต้องปฏิบัติ ตามกฎระเบียบ IUU ได้แก่ มีทะเบียนเรือไทย/ใบอนุญาตใช้เรือ, มีอาชญาบัตร หรือใบอนุญาต อ.๖, ทำการประมงตามที่กฎหมายกำหนด และรายงานการทำการประมงโดยสมุดบันทึกทำการประมง (ที่มา : ทรภ.๑ และกรมประมง)

กรมสวัสดิการทหารเรือ รับสมัครบุคคลพลเรือนเพื่อเลือกสรรเป็นพนักงานราชการ จำนวน ๔ อัตรา

กรมสวัสดิการทหารเรือ เปิดรับสมัครบุคคลพลเรือนเพื่อเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป กลุ่มงานบริการ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จำนวน ๔ อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งพนักงานบริการ ปฏิบัติงานที่ กรมสวัสดิการทหารเรือ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๒ อัตรา, ตำแหน่งพนักงานบริการ ปฏิบัติงานที่ สำนักงานควบคุมอาคารที่พักอาศัยส่วนกลางกองทัพเรือ พื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน ๑ อัตรา และ ตำแหน่งพนักงานเกษตร จำนวน ๑ อัตรา ปฏิบัติงานที่ ศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
        คุณสมบัติของผู้สมัครจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า ๑๘ ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน ๓๕ ปี, เพศชายต้องผ่านการคัดเลือกทหารกองประจำการ และหมดข้อผูกพันตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช ๒๔๙๗ แล้ว
         หลักฐานการสมัคร ประกอบด้วย สำเนาหลักฐานการศึกษา, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้านของผู้สมัคร บิดา และมารดา, สำเนาใบกองหนุนหรือใบแทนหรือหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการคัดเลือกทหารกองประจำการ, รูปถ่าย ขนาด ๒ นิ้ว จำนวน ๒ รูป, สำเนาหลักฐานอื่น ๆ เช่น ใบสำคัญการสมรส, ใบสำคัญการหย่า หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ - ชื่อสกุล และใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐบาล
         ผู้ที่สนใจสมัครเข้าเป็นพนักงานในตำแหน่งดังกล่าว สามารถขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ที่ แผนกธุรการ กองบังคับการ กรมสวัสดิการทหารเรือ ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่บัดนี้ ถึง ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ในวันและราชการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๖๕ หรือ ๐ ๒๔๑๑ ๕๘๖๔ (ที่มา : สก.ทร.)

๖ พฤษภาคม กรมประมง เปิดใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง พร้อมกัน ๒๘ ศูนย์ ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล

วันนี้ (๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘) กรมประมง ทดลองใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง (Port in - Port out) พร้อมกันทั้งหมด ๒๘ ศูนย์ ใน ๒๒ จังหวัดชายทะเล พร้อมขอความร่วมมือแพปลา ท่าเทียบเรือ และเรือประมง ขนาด ๓๐ ตันกรอสขึ้นไป นำเรือเข้าสู่ระบบเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยก่อนจะออกไปทำการประมงและกลับเข้าเทียบท่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกของเรือประมงที่กำหนด เพื่อให้มีการรายงานข้อมูลการทำประมง รวมถึงแรงงานบนเรือประมง อาทิ ทะเบียนเรือ เครื่องมือทำการประมง ใบอนุญาตทำการประมง ผลจับสัตว์น้ำจากสมุดบันทึกการทำประมง (logbook) ตลอดจนบุคคลทำการประมงประจำเรือ (กัปตัน เจ้าของเรือ แรงงานบนเรือ) โดยจะต้องแจ้งก่อนเรือเข้า - ออก ไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง และข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ ที่เรือประมงแจ้งจะถูกนำไปใช้ตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งถือเป็นการสร้างกฎกติกาใหม่ภายใต้ระบบสากล ให้ชาวประมงถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะเมื่อพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือน มิถุนายน ๒๕๕๘ จึงชี้ให้เห็นว่า ระบบ Port in - Port out สามารถควบคุมการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อกำหนดที่เรือและเครื่องมือต้องถูกต้องมีใบอนุญาตทำประมง มีการใช้แรงงานที่ถูกต้อง มีสัญญาจ้าง ถือเป็นการควบคุมกำกับของหน่วยงานรัฐที่เบ็ดเสร็จ ที่จะแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องประมง IUU และการค้ามนุษย์ในภาคแรงงานประมง (ที่มา : กรมประมง)