วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

กรมการขนส่งทางบก อบรมเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ใน ๒๙ - ๓๐ มีนาคม นี้

กรมการขนส่งทางบก จัดอบรมเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนแก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ในวันที่ ๒๙ - ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ณ กรมการขนส่งทางบก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการอบรมความรู้ด้านกฎจราจร และเปิดโอกาสให้สอบขับรถ เพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ด้านการขับขี่ที่ปลอดภัย ปลูกฝัง วินัยจราจรเพื่อเป็นนักขับรถที่มีคุณภาพ เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังคงเกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ขับรถด้วยความประมาท และขาดวินัยจราจร ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด การตัดหน้ากระชั้นชิด และเมาสุราขณะขับรถ โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด
          ผู้สนใจเข้ารับการอบรมโครงการดังกล่าวทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ต้องขับรถเป็น และมีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครด้วยตนเองพร้อมแนบหลักฐาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา และใบรับรองแพทย์ ที่ส่วนใบอนุญาตขับรถ อาคาร ๔ ชั้น ๒ กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๗๑ ๘๔๘๑ หรือ ๐ ๒๒๗๑ ๘๘๘๘ ต่อ ๔๓๐๒ (ที่มา : กรมการขนส่งทางบก)

ทัพเรือภาคที่ ๑ ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือ ๕๗ ระหว่าง ๑๒ - ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗

กองทัพเรือ โดย ทัพเรือภาคที่ ๑ ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือ ๕๗ ระหว่าง ๑๒ - ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ตามโครงสร้างและแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือในปัจจุบัน โดยใช้แผน/คำสั่งยุทธการที่ใช้ในการฝึก โดยเน้นการปฏิบัติทางด้านทิศใต้ ทำการฝึกใน ๓ ระดับ คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ, ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาค และหน่วยรองทัพเรือภาค
          การฝึกกองทัพเรือเป็นการฝึกที่สำคัญและทำการฝึกเป็นประจำทุกปี เป็นการฝึกภายในประเทศของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือจาก ส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา รวม ๒๑ หน่วย สำหรับการฝึกในปีนี้เป็นการฝึกในลักษณะบูรณาการด้วยการนำการปฏิบัติการทาง ทหาร การปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ของส่วนกำลังรบ การปฏิบัติการและการสนับสนุนของส่วนอื่น ๆ มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างวันที่ ๓ มีนาคม ถึง ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ พื้นที่ฝึกบริเวณที่ตั้งหน่วย พื้นที่ปฏิบัติการ และพื้นที่ฝึกของกองทัพเรือ มี พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น ผู้อำนวยการฝึกฯ
          วัตถุประสงค์หลักของการฝึก เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารของหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามแผนป้องกันประเทศ และเพื่อทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และศูนย์บัญชาการทางทหารระดับต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ตามโครงสร้างและแนวทางใช้กำลังของกองทัพเรือในปัจจุบัน โดยทำการฝึกในลักษณะ "รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น" คือ หน่วยจะต้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ใดในสถานการณ์จริงให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ นั้นในสถานการณ์ฝึก ทั้งนี้ ได้นำปัญหา อุปสรรค ขัดข้องและข้อเสนอแนะของการฝึกกองทัพเรือในปี ๒๕๕๖ มาพิจารณาให้สอดคล้องตามแผนการปฏิบัติงานของหน่วย
           การฝึกครั้งนี้จะทำการฝึกในลักษณะที่ไม่มีแผนยุทธการไว้รองรับ ด้วยการสมมติเหตุการณ์ให้มีภัยคุกคาม หน่วยรับการฝึกจะปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (Crisis Action Planning : CAP) จนได้เป็นคำสั่งยุทธการในชื่อ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับกองทัพเรือ" และ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับทัพเรือภาคที่ ๑ - ๓" ซึ่งจะนำไปใช้ทดสอบการควบคุมบังคับบัญชาและการอำนวยการยุทธ์ตามโครงสร้าง จริง รวมทั้งทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติต่าง ๆ ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและหรือจัดทำหลักปฏิบัติเพิ่ม เติม มีขอบเขตการฝึกทั้งในด้านการส่งกำลัง การซ่อมบำรุง การขนส่ง และการบริการทางการแพทย์ โดยมีขั้นตอนการฝึกแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการฝึกได้ดำเนินการ ขั้นการฝึก ประกอบด้วย การอบรมในห้องเรียน, การฝึกปัญหาที่บังคับการ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ มีนาคม, การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม - ๒ พฤษภาคม และขั้นการสัมมนาสรุปผลการฝึก ระหว่าง๑๔ - ๒๑ พฤษภาคม (ที่มา : ทรภ.๑)

เปิดอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน สำหรับข้าราชการกองทัพเรือทั่วไป

 ศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เปิดการอบรมหลักสูตรภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน (ALC) สำหรับข้าราชการกองทัพเรือทั่วไป เป็นโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของข้าราชการกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม - ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยกำหนดทดสอบภาษาอังกฤษ (PT) เพื่อคัดเลือกข้าราชการเข้ารับการอบรม ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. รายงานตัวเวลา ๑๒.๐๐ น.
         ขอเชิญนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารประทวนที่สนใจเข้ารับการอบรมตามโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ กรุณาแจ้งรายชื่อให้หน่วยต้นสังกัด เพื่อส่งให้ ศูนย์ภาษา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทราบ ภายในวันที่ ๑๗ มีนาคม นี้ (ที่มา : ศภษ.ยศ.ทร.)

สมาคมภริยาทหารเรือ ให้ทุนการศึกษาแก่บุตรสมาชิกสมาคมภริยาทหารเรือ ประจำปี ๒๕๕๗

สมาคมภริยาทหารเรือ จะพิจารณาให้ทุนการศึกษาแก่บุตรของสมาชิกสมาคมภริยาทหารเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ โดยแบ่งทุนเป็น ๒ ประเภท คือ ทุนส่งเสริมการศึกษาและทุนผูกพัน โดยผู้มีสิทธิขอทุนจะต้องเป็นสมาชิกสามัญตลอดชีพ ครบ ๒ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นสมาชิกสมทบตลอดชีพ ครบ ๒ ปีบริบูรณ์ ขึ้นไปส่วนผู้มีสิทธิรับทุนจะต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้ขอทุน เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน ๒๒ ปี (เกิดปีพุทธศักราช ๒๕๓๕)
        หลักฐานประกอบการสมัครขอรับทุน ประกอบด้วย ใบสมัครขอรับทุนจะต้องผ่านการรับรองจากต้นสังกัดของบิดาหรือมารดา, สำเนาสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนหรือระเบียนการศึกษาของบุตรที่มีผลคะแนน เฉลี่ยตลอดปีการศึกษา ๒๕๕๖, สำเนาบัตรสมาชิกสมาคมภริยาทหารเรือทั้งด้านหน้าและหลัง, สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อบิดา มารดา และบุตรที่ขอรับทุน, หนังสือรับรองความสามารถพิเศษที่โรงเรียนหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องรับรอง
         สำหรับผู้สมัครขอรับทุนที่สำเร็จการศึกษาประถมศึกษาปีที่ ๖ มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ จะต้องมีหลักฐานแสดงว่าสถาบันที่จะเข้าศึกษาต่อได้รับเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษานั้น ๆ แล้ว
          ผู้ที่ประสงค์จะขอรับทุน สามารถยื่นใบสมัครได้ที่ ที่ทำการสมาคมภริยาทหารเรือ ภายในบริเวณกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๑ ๗๘๙๘ หรือหมายเลขโทรศัพท์ภายใน ๕๕๖๖๕, ๕๓๒๔๓ หรือที่ทำการสมาคมภริยาทหารเรือฝ่ายภูมิภาค บริเวณอาคารรับรอง ๒ ฐานทัพเรือสัตหีบ หมายเลขโทรศัพท์ภายใน ๗๕๐๒๘ หรือ นาวาตรีหญิง ปุณยวีร์ อิสราอมรพงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ ๙๒๙ ๙๐๔๑ ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗ ทั้งนี้ จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนส่งเสริมการศึกษา ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และทุนผูกพัน ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ (ที่มา : สมาคมภริยาทหารเรือ)

พิธีปล่อยเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ชุด เรือ ต.๑๑๑ ลงน้ำ

วันนี้ (๑๓ มีนาคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๓.๓๙ น.พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ชุดเรือ ต.๑๑๑ ลงน้ำ โดย นางอัจฉรา พิพัฒนาศัย ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัทมาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธี
         กองทัพเรือได้ดำเนินโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน ๓ ลำ พร้อมระบบสื่อสาร อาวุธ ระบบอื่น ๆ รวมทั้งการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเล อันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย และการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ออกแบบและต่อเรือ ซึ่งเรือทั้ง ๓ ลำ ตั้งชื่อว่า "เรือ ต.๑๑๑", "เรือ ต.๑๑๒" และ "เรือ ต.๑๑๓"
          ลักษณะของเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือมีความยาวตลอดลำ ๓๖ เมตร, ความกว้างกลางลำ ๗.๖๐ เมตร, ความลึกกลางน้ำ (Molded Depth) ๓.๖๐ เมตร, เรือกินน้ำลึกเต็มที่ไม่เกิน (Molded Draught) ๑.๗๐ เมตร, ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่น้อยกว่า ๓๖,๐๐๐ ลิตร, ความจุถังน้ำจืด ไม่น้อยกว่า ๕,๖๐๐ ลิตร, มีถังน้ำจืดสำรองความจุ ไม่น้อยกว่า ๘,๐๐๐ ลิตร และมีระวางขับน้ำเต็มที่ ประมาณ ๑๕๐ ตัน
          ขีดความสามารถทั่วไปของเรือดังกล่าวมีความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า ๒๗ นอต, ระยะปฏิบัติการที่ความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ ๑๕ นอต ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ไมล์ทะเล, สามารถปฏิบัติการ ในสภาวะทะเลได้ถึง Sea State 5 (ความสูงคลื่น ๒.๕ - ๔ เมตร), สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน, ปฏิบัติการทางเรือได้อย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน และสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ ได้ด้วยระบบตรวจการณ์ของเรือ นอกจากนี้ สามารถ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ, ตรวจสอบเรือต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมและคุ้มครองเรือประมงและทรัพยากรธรรมชาติ, เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว
          เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ นอกจากจะมีขีดความสามารถทั่วไปแล้ว ยังมีขีดความสามารถในการสนับสนุนการขนส่งทางธุรการชุดปฏิบัติการพิเศษ พร้อมเรือยางท้องไฟเบอร์กลาสความเร็วสูง (RIB) อย่างน้อย ๑ ชุด ปฏิบัติการพิเศษ, ลำเลียงอุปกรณ์สนับสนุนหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตามพื้นที่ชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ลำเลียงอุปกรณ์ปรับความดันบรรยากาศของกองทัพเรือ สนับสนุนการปฏิบัติการด้านการแพทย์ให้กับกองเรือในทะเลตามขีดความสามารถของเรือ และสามารถบรรทุกและรองรับตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน ขนาด ๒๐ ฟุต จำนวน ๒ ตู้ พร้อมกับบรรทุกถังน้ำมันแบบยางขนาด ๕๐๐ แกลลอน จำนวน ๑ ถัง (ที่มา : สยป.ทร.)

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"การตั้งมั่นอยู่ในวินัย ในความสุจริต มีสติควบคุมกายใจให้อยู่ในระเบียบ ประพฤติปฏิบัติแต่การที่ปราศจากโทษและเป็นคุณประโยชน์ ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่เบียดเบียนกระทบกระเทือนผู้อื่น เหล่านี้เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างความเชื่อถือไว้วางใจ เป็นเสมือนอาวุธลับสำหรับทำลายการส่อเสียดยุงยงและความแตกแยก ตราบใดท่านรักษาความเป็นทหารที่แท้ของท่านไว้โดยครบถ้วน ตราบนั้นท่านก็จะรักษาความเป็นปึกแผ่นและปลอดภัยของชาติไว้ได้ การยุยงบ่อนทำลายหรือกลวิธีอันเลวร้ายต่าง ๆ จะไม่อาจทำอันตรายได้เลย"
           พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ ธันวาคม ๒๕๑๔