วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กำหนดสวดพระอภิธรรม นางอำไพ มะม่วงแก้ว ภรรยา พลเรือเอก บุญปลอด มะม่วงแก้ว ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร

ขอเชิญผู้รู้จักคุ้นเคยร่วมฟังสวดพระอภิธรรมศพ นางอำไพ มะม่วงแก้ว ภรรยา พลเรือเอก บุญปลอด มะม่วงแก้ว นายทหารนอกราชการ รับบำนาญ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (อดีตเสนาธิการทหารเรือ) และมารดาของ นาวาโทหญิง ฐปวัลย์ กรอารีรัตน์ หัวหน้าเอกสารซื้อขาย กองการจัดหา กรมพลาธิการทหารเรือ นาวาโทหญิง ขวัญนภา มะม่วงแก้ว ประจำกรมจเรทหารเรือ และ นาวาโท ปลอดภัย มะม่วงแก้ว นายทหารพ้นราชการ รับบำนาญ สังกัดกองทัพเรือ ณ ศาลา ๑ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓๐ น. และกำหนดพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๐๐ น. ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ (ที่มา : ศปก.ทร.)

การรับสมัครเพื่อขอรับรางวัลการจัดการความรู้ของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗

 คณะอนุกรรมการการจัดการความรู้ของกอง ทัพเรือ กำหนดจัดกิจกรรมยกย่อง ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานจัดการความรู้ที่ดีของกองทัพเรือ เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ของหน่วยงานในกองทัพเรือให้มีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นทีมเรียนรู้ที่เข้มแข็ง สามารถสรุปบทเรียนจากการปฏิบัติงานและต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่ง เสริมการปฏิบัติราชการของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในกองทัพเรือ
         หน่วยที่มีความประสงค์จะนำเสนอผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ เพื่อขอรับรางวัลการจัดการความรู้ของกองทัพเรือ กรุณาส่งใบสมัครพร้อมรายละเอียดถึง ฝ่ายเลขานุการ กองพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดบัญชีทหารเรือ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ภายใน ๕๕๒๐๖ หรือ ๐๘๔ ๗๕๖ ๑๒๒๑ (ที่มา : สปช.ทร.)

กองทัพเรือ เตรียมจัดพิธีปล่อยเรือน้ำมันลงน้ำ ขนาดระวางบรรทุกน้ำมัน ๑,๒๐๐ กิโลลิตร ณ บริษัท มาร์ซัน จำกัด

 กองทัพเรือ กำหนดจัดพิธีปล่อยเรือน้ำมันลงน้ำ ณ พื้นที่สร้างเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๓๙ น. โดย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือ ฯ และ นางอัจฉรา พิพัฒนาศัย ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธี ฯ
         กองทัพเรือ อนุมัติให้มีการจัดสร้างเรือน้ำมัน ขนาดระวางบรรทุกน้ำมัน ๑,๒๐๐ กิโลลิตร จำนวน ๑ ลำ จัดสร้างโดยบริษัทอู่กรุงเทพจำกัด โดยเรือน้ำมันลำนี้มีภารกิจในการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับเรือกองทัพ เรือที่ปฏิบัติการในทะเลขนาดตั้งแต่เรือฟริเกตลงมา สนับสนุนการส่งกำลังบำรุงและการส่งกลับทางสายแพทย์ สนับสนุนการลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงทางทะเลในการช่วยเหลือประชาชนตามแนวชาย ฝั่งทะเลสนับสนุนเรือหน่วยเฉพาะกิจ หน่วยราชการ โครงการตามพระราชดำริ ประชาชนตามเกาะและแนวชายฝั่งทะเล และสนับสนุนการฝึกปฏิบัติงานของหน่วยต่าง ๆ ทั้งในและนอกกองทัพเรือ
          เรือน้ำมันมีความยาวตลอดลำ ๖๓.๕๐ เมตร ความกว้างกลางลำ ๑๒.๐๐ เมตร ความลึกกลางลำ ๕.๑๐ เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ ๓.๙๒ เมตร ความจุของถังระวางบรรทุกน้ำมัน ๒,๒๐๐ กิโลลิตร ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ๙๐,๐๐๐ ลิตร ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง ๘,๐๐๐ ลิตร และความจุของถังน้ำจืด ๑๐๐ ตัน
          ขีดความสามารถของเรือน้ำมัน มีความเร็วสูงสุดต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๑๒ นอต ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วมัธยัสถ์ (๑๐ นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ สามารถปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า ๑๒ วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง มีขีดความสามารถในการส่งน้ำมันในขณะเรือเดินในทะเลทางท้ายเรือ ตามมาตราของ NATO และสามารถส่งน้ำมันในขณะเรือจอดไดพร้อมกัน ๒ จุด คือ ทางกราบซ้ายและทางกราบขวา สามารถรับ - ส่งเฮลิคอปเตอร์ขนาดน้ำหนักไม่น้อยกว่า ๖ ตัน ได้จำนวน ๑ เครื่อง สามารถรับการเข้าเทียบของเรือขนาดไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ตัน จำนวน ๒ ลำ ในขณะเรือจอดทอดสมอ และปฏิบัติภารกิจได้ในสภาพทะเลเมื่อมีระวางบรรทุกสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า Sea State 5
(ที่มา : สยป.ทร.)

ออสเตรเลียจัดหาเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-8A Poseidon

 เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นายโทนี่ แอ็บบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ออสเตรเลียกำลังจัดหาเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล P-8A Poseidon จำนวน ๘ เครื่อง มูลค่า ๔๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้าประจำการแทน เครื่องบิน Lockheed AP-3C Orion จำนวน ๑๙ เครื่อง ในภารกิจรวบรวมข่าวกรอง การค้นหาและช่วยเหลือ และสกัดกั้นเรือผู้อพยพในน่านน้ำออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังสามารถปฏิบัติการสนับสนุนการรบผิวน้ำและสงครามปราบเรือดำน้ำอีกด้วย คาดว่าจะได้รับเครื่องบินเครื่องแรกในปี ๒๕๖๐ (ที่มา : ขว.ทร.)

ทัพเรือภาคที่ ๑ จัดการเยี่ยมชมกิจการหน่วยงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

วันนี้ (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) พลเรือโท วีระพันธ์ สุขก้อน ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ ๑ และคณะฝ่ายอำนวยการทัพเรือภาคที่ ๑ เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการหน่วยงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง และรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานจาก สำนักงานนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด, สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทโกลบอล พอร์ท แมนเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท โกลว์ พนักงาน จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด (ที่มา : ทรภ.๑)

รองหัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เยี่ยมทหารป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่

วันนี้ (๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) เวลา ๑๐.๐๐ น. พลเรือโท วัลลภ หังสวนัส รองหัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ เดินทางไปเยี่ยมทหารที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ที่พักรักษาตัว ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเรือโท กิตติพัฒน์ วัฒนาวงศ์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบเงินบำรุงขวัญในโอกาสนี้ด้วย
(ที่มา : กพ.ทร.)

กองทัพเรือ ทำการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗

กองทัพเรือ จะทำการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นการฝึกภายในประเทศของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือจาก ส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา รวม ๒๑ หน่วย ประกอบด้วย กรมกำลังพลทหารเรือ กรมข่าวทหารเรือ กรมยุทธการทหารเรือ กรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ กองเรือยุทธการ ทัพเรือภาคที่ ๑ ทัพเรือภาคที่ ๒ ทัพเรือภาคที่ ๓ หน่วยบัญชาการ นาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ฐานทัพเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือกรุงเทพ กรมสารวัตรทหารเรือ กรมสรรพาวุธทหารเรือ กรมพลาธิการทหารเรือ กรมแพทย์ทหารเรือ การการขนส่งทหารเรือ กรมอุทกศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และ โรงเรียนนายเรือ มี พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ กำหนดทำการฝึกตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ถึง ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ พื้นที่ฝึกบริเวณที่ตั้งหน่วย พื้นที่ปฏิบัติการ และพื้นที่ฝึกของกองทัพเรือ และจะมีพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ฯ ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ กองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดการฝึก
         การฝึกกองทัพเรือ เป็นการฝึกที่สำคัญและทำการฝึกเป็นประจำทุกปี โดยมีกรมยุทธการทหารเรือ เป็นหน่วยรับผิดชอบการฝึก ซึ่งจัดการฝึกในลักษณะบูรณาการด้วยการนำการปฏิบัติการทางทหาร การปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ของส่วนกำลังรบ การปฏิบัติการและการสนับสนุนของส่วนอื่น ๆ มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน
          สำหรับแนวทางการจัดการฝึกกองทัพเรือ ปี ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารของหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามแผนป้องกันประเทศ และเพื่อทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และศูนย์บัญชาการทางทหารระดับต่าง ๆ ของกองทัพเรือตามโครงสร้างและแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือในปัจจุบัน โดยทำการฝึกในลักษณะ "รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น" คือ หน่วยจะต้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ใดในสถานการณ์จริงให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ นั้นในสถานการณ์ฝึก ทั้งนี้ ได้นำปัญหา อุปสรรค ขัดข้องและข้อเสนอแนะของการฝึกกองทัพเรือในปี ๒๕๕๖ มาพิจารณาให้สอดคล้องตามแผนการปฏิบัติงานของหน่วย
         การฝึกครั้งนี้จะใช้ข้อมูลจากแผนป้องกันประเทศด้านใต้ (แผนศรีวิชัย) มาใช้เป็นข้อมูลหลักในการจัดทำแผน/คำสั่งยุทธการในการฝึก โดยจะทำการฝึกในลักษณะที่ไม่มีแผนยุทธการไว้รองรับ ด้วยการสมมติเหตุการณ์ให้มีภัยคุกคามด้านใต้ หน่วยรับการฝึกจะปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (Crisis Action Planning : CAP) จนได้เป็นคำสั่งยุทธการในชื่อ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับกองทัพเรือ" และ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับทัพเรือภาคที่ ๑ - ๓" ซึ่งจะนำไปใช้ทดสอบการควบคุมบังคับบัญชาและการอำนวยการยุทธ์ตามโครงสร้าง จริง รวมทั้งทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติต่าง ๆ ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและหรือจัดทำหลักปฏิบัติเพิ่ม เติม มีขอบเขตการฝึกทั้งในด้านการส่งกำลัง การซ่อมบำรุง การขนส่ง และการบริการทางการแพทย์ โดยมีขั้นตอนการฝึกแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการฝึกได้ดำเนินการ ขั้นการฝึก ประกอบด้วย การอบรมในห้องเรียน การฝึกปัญหาที่บังคับการ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล และขั้นการสัมมนาสรุปผลการฝึก (ที่มา : ยก.ทร.)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  "ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้"
         พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ๑ กันยายน ๒๕๒๖