วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

MMEA ส่งเจ้าหน้าที่ไปรับการอบรมที่ออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีรายงานหน่วย Malaysian Maritime Enforcement Agency (MMEA) ของมาเลเซีย ว่า MMEA จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกที่ออสเตรเลียเป็นเวลา ๖ เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมและความเข้าใจในการปฏิบัติภารกิจทางเรือ โดยเฉพาะการปราบปรามการลักลอบค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะมอบเรือตรวจการณ์ ชั้น Bay จำนวน ๒ ลำ แก่ MMEA ภายในกลางปี ๒๕๕๘ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ MMEA บริเวณน่านน้ำรอยต่อไทย - มาเลเซีย (ที่มา : ขว.ทร.)

เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย

วันนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และเสนาธิการทหารเรือ และคณะ ตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย จังหวัดเชียงราย พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป เพื่อรับทราบ ปัญหา อุปสรรค ข้อขัดข้อง ในการปฏิบัติ และในโอกาสนี้ ได้กล่าวโอวาทแก่กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับ สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาด้วยความรอบคอบและอดทนในการปฏิบัติ หน้าที่ เพิ่มมาตรการและกวดขันในการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดน ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย คุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่าง ๆ และเน้นย้ำให้กำลังพลตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง (ที่มา : ศปก.ทร.)

กำหนดฌาปนกิจศพ นางนรินทร สัมมาเนตร์ ภรรยา เรือโท สิทธิชัย สัมมาเนตร์ ใน ๒๓ กุมภาพันธ์ นี้

 ขอเชิญนักเรียนจ่าทหารเรือ รุ่น ๓๔ และผู้รู้จักคุ้นเคย ร่วมงานฌาปนกิจศพ นางนรินทร สัมมาเนตร์ ภรรยา เรือโท สิทธิชัย สัมมาเนตร์ ประจำแผนกรับรอง กองเลขานุการ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ ณ เมรุวัดหันตรา ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ น.
(ที่มา : ศปก.ทร.)

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง ดีต่อยอด

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ดีต่อยอด"
         ในแวดวงผู้ปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ นอกจากการปักชำและการตอนกิ่งแล้ว การ "ต่อยอด" ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการขยายพันธุ์พืช เช่น ต่อยอดต้นเฟื่องฟ้าทำให้มีดอกหลากสีในต้นเดียว หรือต่อยอดต้นโมกมันทำให้ได้โมกพันธุ์ใหม่ที่มีใบลาย ทรงพุ่ม จัดแต่งเป็นระเบียบได้ง่าย เป็นต้น ทำให้ยอดที่ต่อแล้วผลิดอกออกผลหลากสีหลายพันธุ์แตกต่างไปจากพันธุ์เดิม เป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาแพง แต่ต้นตอที่จะต่อยอดนั้นต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ ๒ ประการ คือ ๑. อดทน ได้แก่ ทนต่อการถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบในกระถางได้ดี ๒. รักการมีวินัย ได้แก่ ชอบให้ตกแต่งต้นใบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูดีมีคุณค่าอยู่ตลอดเวลา
          ในแง่คิดทางธรรม ผู้หวังความเจริญก้าวหน้าและปรารถนาให้ชีวิตอยู่ดีมีคุณค่าอยู่เสมอ ก็สามารถนำข้อคิดจากการต่อยอดพืชพันธุ์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้ เช่น เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษา ก็พากันอธิษฐาน "งดเหล้าเข้าพรรษา" เสมือนเป็นการปรับแต่งชีวิตให้เป็นต้นตอที่เหมาะสมจะต่อยอดดีต่อไป ครั้นออกพรรษาก็ต่อยอดดีให้ชีวิตด้วยการ "ทอดกฐินปลอดเหล้า" พอถึงเทศกาลปีใหม่ก็ต่อยอดดีให้ชีวิตด้วยการ "สวัสดีปีใหม่ไม่ต้องอาศัยอบายมุข" เพื่อรักษาชีวิตให้ยืนยาวต่อไป และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็ต่อยอดดีให้ชีวิตด้วยการ "เมาไม่ขับ ไป - กลับปลอดภัย" การต่อยอดดีให้แก่ชีวิตทุกช่วงเทศกาลดังกล่าว ทำให้ตลอดปี ชีวิตมีดีถึง ๔ ยอด ส่งผลให้มีอายุยืนยาวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งช่วยตัดอุบัติเหตุเภทภัยที่จะบั่นทอนชีวิต การงาน และครอบครัวไปได้ด้วย แต่ต้นตอชีวิตที่จะควรแก่การต่อยอดดีได้เช่นนี้ จำต้องมีคุณธรรมสำคัญรองรับ ๒ ประการ คือ ๑. ขันติ คือ ความอดทนได้แก่ อดทนต่อกิเลสที่มายั่วยุ กดไว้ข่มไว้ เพื่อให้ชีวิตบรรลุถึงความดีงาม และจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ๒. โสรัจจะ คือ ความสงบเสงี่ยม ได้แก่ มีอัธยาศัยงดงาม รักความประณีต เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูดีมีคุณค่าอยู่เสมอ
           การต่อยอดความดีให้แก่ชีวิตเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้ชีวิตมีความดีเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งทำให้คนนั้นมีคุณค่า ควรแก่การยึดถือเป็นแบบอย่างแก่อนุชนได้ ขันติและโสรัจจะ จึงเป็นคุณธรรมที่เหมาะต่อการนำมาเป็นเครื่องมือในการต่อยอดความดีให้แก่ ชีวิต ทั้งนี้ เพราะแม้แต่ต้นไม้เอง เมื่อนำมาต่อยอดแล้ว ยังทำให้มีคุณค่า เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถยกระดับราคาค่าตัวให้สูงขึ้นได้ คิดดูเถิด หากมนุษย์ต่อยอดความดีให้แก่ตัวเองได้ จะทำให้ตนมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเพียงใด (ที่มา : ยศ.ทร.)

การตรวจเยี่ยมการฝึกดำเนินกลยุทธด้วยกระสุนจริง การฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๔ ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด

 วันนี้ (๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) เวลา ๐๙.๔๕ น. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การรับรอง พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะผู้บังคับบัญชา ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมการฝึกดำเนินกลยุทธด้วยกระสุนจริง ภายใต้รหัสการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๔ ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข ๑๖ บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป ชมการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนและชมการจัดแสดงยุทโธปกรณ์ จากนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะเป็นประธานในพิธีปิดการฝึก ฯ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมิตรประเทศที่ร่วมการ ฝึก ฯ เข้าร่วมพิธี
         การฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกปฏิบัติการร่วมผสมในลักษณะพหุภาคีของกองทัพไทย กองทัพสหรัฐฯ และกองทัพมิตรประเทศ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีกองทัพไทยเป็นเจ้าภาพจัดการฝึก ในส่วนของกองทัพเรือได้จัดกำลังพลเข้าร่วมการฝึกเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทาง ทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก พัฒนาขีดความสามารถการอำนวยการยุทธร่วม/ผสมต่อกำลังรบขนาดใหญ่ในสถานการณ์ ความขัดแย้งระดับต่ำ การป้องกันประเทศ และฝึกการประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์อื่น ๆ เช่น การต่อต้านการก่อความไม่สงบ การต่อต้านการก่อการร้าย การอพยพประชาชน การช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งฝึกการใช้กองกำลังพลผสมนานาชาติ และเตรียมความพร้อมในการจัดกำลังเพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบสหประชาชาติ เมื่อได้รับคำสั่ง การฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ ๑๔ มีประเทศที่เข้าร่วมการฝึก ๘ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เจ้าภาพ, สหรัฐอเมริกา เจ้าภาพร่วม, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และจีน
         สำหรับการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง (Combined Arms Live Fire Exercise; CALFEX)โดย กองกำลังนาวิกโยธินผสม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน มี พลเรือตรี รัตนะ วงษาโรจน์ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินผสม ทำการฝึกในระดับหน่วยทางยุทธวิธี เพื่อพัฒนาขีดความทางทหารในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพมิตรประเทศ โดย หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ จัดกำลังพล ๕๒๑ นาย พร้อมด้วยยุทโธปกรณ์เข้าร่วมการฝึก
(ที่มา : กยพ.กร.และ ยก.ทร.)

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙ ความว่า
          "ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์ การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน"