วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปากีสถานยืนยันการระงับเงินช่วยเหลือจะไม่กระทบการต่อต้านการก่อการร้าย

เมื่อ ๑๒ ก.ค.๕๔ พล.อ.อาธาร์ อับบาส โฆษกกองทัพปากีสถาน แถลงว่า การที่สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ปากีสถานมูลค่า ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า ๑ ใน ๓ ของงบประมาณที่สหรัฐฯ ให้ในแต่ละปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อต้านการก่อการร้ายเนื่องจากกองทัพปากีสถานยังคงปฏิบัติภารกิจนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปากีสถานยังไม่ได้รับการชี้แจงถึงเหตุผลของการระงับความช่วยเหลือดังกล่าว โดยสหรัฐฯ ระบุเพียงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับปากีสถานจะต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น (ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

กองทัพออสเตรเลียฝึกร่วม/ผสม กับกองเรือที่ ๗ สหรัฐฯ

กองทัพออสเตรเลีย จัดการฝึกร่วม/ผสม กับ กองเรือที่ ๗ สหรัฐฯ ระหว่าง ๑๑ - ๒๙ ก.ค.๕๔ บริเวณอ่าว Shoalwater รัฐควีนสแลนด์ และมณฑลภาคเหนือของออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานร่วมกัน เตรียมความพร้อมในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในแปซิฟิก โดยมีกำลังพลของกองทัพออสเตรเลีย ๘,๕๐๐ นาย และสหรัฐฯ ๑๔,๐๐๐ นาย พร้อมด้วยเรือรบ ๓๐ ลำ เข้าร่วมการฝึก (ที่มา : news.xinhuanet.com)

สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ฝึกผสมในทะเลจีนใต้

   เมื่อ ๙ ก.ค.๕๔ กห.ญี่ปุ่น รายงานว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จัดการฝึกในทะเลจีนใต้ บริเวณนอกชายฝั่งประเทศบรูไน เพื่อเสริมทักษะทางยุทธวิธีของ กกล.ป้องกันตนเองของญี่ปุ่นซึ่งจะเน้นด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับมิตรประเทศ โดย กกล.ป้องกันตนเองของญี่ปุ่นส่งเรือพิฆาต Shimakaze ร่วมฝึกกับเรือพิฆาตของสหรัฐฯ และเรือตรวจการณ์ของออสเตรเลีย (ที่มา : www.defensenews.com)

กองทัพออสเตรเลียฝึกร่วม/ผสม กับกองเรือที่ ๗ สหรัฐ ฯ

 กองทัพออสเตรเลีย จัดการฝึกร่วม/ผสมกับ กองเรือที่ ๗ สหรัฐ ฯ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ บริเวณอ่าว Shoalwater รัฐควีนสแลนด์ และมณฑลภาคเหนือของออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานร่วมกัน เตรียมความพร้อมในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในแปซิฟิก โดยมีกำลังพลของกองทัพออสเตรเลีย ๘,๕๐๐ นาย และสหรัฐ ฯ ๑๔,๐๐๐ นาย พร้อมด้วยเรือรบ ๓๐ ลำ เข้าร่วมการฝึก (ที่มา : ขว.ทร.)

๑๓ - ๑๔ กรกฎาคม ประชุมวิชาการประมงประจำปี ๒๕๕๔

กรมประมง กำหนดจัดการประชุมวิชาการประมง ประจำปี ๒๕๕๔ ในหัวข้อ "งานวิจัยคุณภาพ สามารถใช้ประโยชน์ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน" ณ กรมประมง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ใน วันที่ ๑๓ - ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔
การประชุมวิชาการในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยด้านการประมงสาขาต่าง ๆ ให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารแก่ประเทศ พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม อันจะนำไปสู่แนวทางในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในอนาคต โดยภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการประกอบด้วย ๘ สาขา ได้แก่ สาขาการจัดการทรัพยากรและสังคมเศรษฐกิจ การประมงทะเล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง การวิจัยด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ การวิจัยด้านโรคสัตว์น้ำ การวิจัยด้านอาหารสัตว์น้ำ และการวิจัยด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ
นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง "มุมมองของสำนักงบประมาณต่องานวิจัยทางการประมง" และ "วิจัยอย่างไร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง" ในมุมมองของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกกว่า ๗๕ เรื่อง (ที่มา : เดลินิวส์)

กรมอุตุฯ เตือนจังหวัดภาคเหนือระวังน้ำท่วมฉับพลันถึง ๑๕ กรกฎาคม นี้

 กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศเวียดนามตอนบนประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ทั่วประเทศมีฝนกระจายเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะในภาคเหนือ
จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่มบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ และตาก ระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงนี้
ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนด้านตะวันออกจะมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือในช่วงวันนี้ ถึงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔
(ที่มา: http://www.thannews.th.com)

กองทัพเรือจัดงานสดุดีวีรชนในเหตุการณ์รศ.๑๑๒ ปีที่๑๑๘ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า

วันนี้ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ )กองทัพเรือ ร่วมกับ ชมรมคนรักษ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า กลุ่มคลังสมอง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เพื่อสังคมไทย โดย พลเรือเอก คำรณ นุชนารถ และมูลนิธิพระบรมราชา นุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ จัดงานสดุดีวีรชนรำลึกเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ครบ ๑๑๘ ปี ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยภายในงานจัดให้มีการเสวนาเรื่อง "เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ กับสังคมไทยปัจจุบัน" และพิธีสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ (ที่มา : กพร.ทร.)

พิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

  วันนี้ (๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔) เวลา ๑๖.๓๐ น. พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (เรือ ต.๙๙๕ และ เรือ ต.๙๙๖) ลงน้ำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นางดวงพร พุ่มหิรัญ ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ และนายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นสุภาพสตรี ผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ
กองทัพเรือ ได้สนองแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๙๔ เฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ และได้ดำเนินตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕ ความตอนหนึ่งว่า "เมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด ต.๙๑ ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม" ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินโครงการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ชุด เรือ ต.๙๙๑ จำนวน ๓ ลำ ประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากนั้นในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ กรมอู่ทหารเรือได้เตรียมการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพิ่มอีก จำนวน ๓ ลำ คือ เรือ ต.๙๙๔, เรือ ต.๙๙๕ และ เรือ ต.๙๙๖ โดยดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ ให้มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการพิจารณาจากปัญหาข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ส่วน นำมาวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขจนสามารถทำให้การพัฒนาเรือนั้นมีคุณลักษณะที่เหมาะสมและตอบสนองต่อภารกิจได้ดีขึ้นคุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ มีความยาวตลอดลำ ๔๑.๗๐ เมตร ความกว้าง ๗.๒๐ เมตร กราบเรือสูง ๓.๘๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๘๐ เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ ๒๑๕ ตัน มีความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า ๒๗ นอต ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ ไมล์ทะเล ระยะเวลาปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๗ วัน และมีความทนทะเล ระดับ ๓ (ที่มา : สลก.ทร.)