วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ออสเตรเลียจำเป็นจะต้องระงับแผนเปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยนอกประเทศ

เมื่อ ๔ ส.ค.๕๔ นายคริส โบเวน รมว.ตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลีย แถลงว่า ออสเตรเลียจำเป็นต้องระงับแผนเปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยบนเกาะมานุสของปาปัวนิวกินีที่ลงนามเมื่อ ส.ค.๕๔ และข้อเสนอของฝ่ายค้านเรื่องฟื้นฟูศูนย์ผู้ลี้ภัยที่นาอูรู หลังจากศาลฎีกาตัดสินให้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนผู้ลี้ภัยกับมาเลเซียเป็นโมฆะ เนื่องจากรัฐบาลไม่มั่นใจว่าจะดำเนินการได้ด้วยกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้คะแนนนิยมของพรรคแรงงาน และ น.ส.จูเลีย กิลลาร์ด นรม.ออสเตรเลียตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง (ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

สหรัฐฯ ประกาศเตือนให้เฝ้าระวังการก่อการร้ายจากกลุ่มอัลกออิดะห์

เมื่อ ๔ ก.ย.๕๔ สนข.AP รายงานว่า สนง.สืบสวนกลางสหรัฐฯ (FBI) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ประกาศเตือนชาวสหรัฐฯ ทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังการก่อการร้ายจากกลุ่มอัลกออิดะห์ ในช่วงใกล้ครบรอบ ๑๐ ปี เหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ ใน ๑๑ ก.ย.๕๔ และขณะนี้หน่วยความมั่นคงสหรัฐฯ ได้ยกระดับการรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศแล้ว โดยเผยแพร่เอกสารข่าวการบังคับใช้กฎหมายความยาว ๕ หน้า ระบุถึงวิธีก่อการร้ายด้วย บ.ขนาดเล็กเมื่อปี ๒๕๔๔ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังไม่มีข้อมูลหรือรายงานว่ากลุ่มอัลกออิดะห์วางแผนโจมตีในระยะเวลาอันใกล้นี้ (ที่มา : ศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ)

นักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้รวมตัวประท้วงต่อต้านการก่อสร้างฐานทัพเรือบนเกาะเชจู

เมื่อ ๔ ส.ค.๕๔ นักเคลื่อนไหวในเกาหลีใต้ประมาณ ๓๐๐ คน และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านร่วมชุมนุมที่เกาะเชจูทางภาคใต้ของเกาหลีใต้ เพื่อประท้วงต่อต้านการก่อสร้างฐานทัพเรือ เนื่องจากเห็นว่าจะทำลายสภาพแวดล้อม และอาจทำให้เกิดข้อพิพาทกับจีนเนื่องจากจะให้ ทร.สหรัฐฯ ร่วมใช้ฐานทัพเรือแห่งนี้ด้วย (ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์)

กองทัพเรือ ทดสอบเรือ ต.๙๙๔

         กองทัพเรือ จะทำการทดสอบระบบต่าง ๆ ของ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (เรือ ต.๙๙๔) ก่อนจะส่งมอบให้กองเรือยุทธการไว้ใช้ประจำการ โดยในวันที่ ๑๒ ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๔ เรือ ต.๙๙๔ จะออกเดินทางจาก อู่ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ไปยัง ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นจะออกจากท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ เพื่อไปทำการทดสอบระบบเครื่องจักร เรดาร์ การทรงตัว ความเร็ว และทดสอบอาวุธในทะเล
ในการนี้ กองทัพเรือ ได้จัด เรือ ต.๙๙๑ เป็นเรือสังเกตการณ์สำหรับสื่อมวลชน โดยเรือ ต.๙๙๑ นั้น เปรียบได้กับเป็นเรือพี่ ของเรือ ต.๙๙๔ เพราะ ต่อจากอู่ทหารเรือธนบุรี ก่อนหน้าเรือ ต.๙๙๔ และเป็นเรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบสร้างเรือ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางกระดูกงู และปล่อยเรือลงน้ำ โดยการทดสอบเรือ ต.๙๙๔ ในครั้งนี้ เรือ ต.๙๙๔ เรือ ต.๙๙๕ และเรือ ต.๙๙๖ จะทำการแล่นเรือพร้อมกันในทะเลเพื่อบันทึกภาพ (ที่มา : อจปร.อร.)

กองทัพเรือซ้อมย่อยจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ฯ

กองทัพเรือซ้อมย่อยจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ฯ และกำหนดปิดการจราจรทางน้ำ        
 วันนี้ (๖ กันยายน ๒๕๕๔) เวลา ๑๓.๐๐ น. กองทัพเรือ ทำการซ้อมย่อยจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ครั้งที่ ๒ ในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่างสะพานกรุงธน - สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และครั้งต่อไป ในวันที่ ๑๓, ๒๐, ๒๓, ๒๘ กันยายน, วันที่ ๔, ๗ตุลาคม ๒๕๕๔ และซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง ในวันที่ ๑๓, ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ และวันปฏิบัติจริงในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ จึงมีความจำเป็นต้องปิดการจราจรทางน้ำ โดยกรมเจ้าท่ามีประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมการเดินเรือในวันซ้อมย่อย ซ้อมใหญ่ และวันปฏิบัติจริง ระหว่างเวลา ๑๑.๓๐ น. - ๒๑.๐๐ น.
ทั้งนี้ ตั้งแต่เวลา ๑๓.๓๐ น. ห้ามเรือทุกชนิดผ่านเข้าพื้นที่ ยกเว้นเรือข้ามฟาก ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และให้หยุดเดินเรือเป็นครั้งคราว เมื่อมีการลำเลียงกำลังพล และการลากจูงเรือพระราชพิธี ไปยังแหล่งรวมเรือวัดราชาธิวาสวิหาร และตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นต้นไป ปิดการจราจรขั้นเด็ดขาด จนเสร็จสิ้นการปฏิบัติงานพระราชพิธี ฯ
จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน และขอเชิญชวนร่วมชมการซ้อมย่อย ซ้อมใหญ่ และเฝ้ารับเสด็จ ฯ ณ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่างท่าวาสุกรี - วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตามวันที่กำหนด ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น. (ที่มา : คจข.)

กองทัพเรือจัดงานวันที่ระลึกเรือดำน้ำ ประจำปี ๒๕๕๔

        วันนี้ (๖ กันยายน ๒๕๕๔) เวลา ๑๐.๓๐ น. พลเรือเอก ศุภกร บูรณดิลก ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในงานวันที่ระลึกเรือดำน้ำ ประจำปี ๒๕๕๔ ณ ห้องชมวัง อาคาร ราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
วันที่ ๔ กันยายน ของทุกปี บรรดาทหารเรือที่เคยประจำการในเรือดำน้ำได้ถือเอาวันนี้เป็นวันที่ระลึกเรือดำน้ำ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๐ เรือดำน้ำ ๒ ลำ จากจำนวน ๔ ลำ ซึ่งสั่งต่อจาก บริษัทมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น คือ เรือหลวงมัจฉานุ และ เรือหลวงวิรุณ ได้สร้างแล้วเสร็จ ทางบริษัทพร้อมที่จะส่งมอบให้แก่ราชนาวีไทย ดังนั้น ทหารที่ถูกจัดให้อยู่ประจำเรือทั้งสองลำนี้ ได้กระทำพิธีรับมอบและลงประจำเรือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ถึงแม้กองทัพเรือจะปลดระวางประจำการเรือดำน้ำชุดนี้ไปแล้วก็ตาม แต่ในอดีตนั้นเรือดำน้ำเหล่านี้ได้เป็นเขี้ยวเล็บที่เสริมสร้างนาวิกานุภาพของไทยให้เข้มแข็ง จนเป็นที่กล่าวขานและได้รับใช้ชาติอย่างสมบูรณ์ ในกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสและในสงครามมหา เอเชียบูรพา จนกระทั่งสงครามสงบ เรือดำน้ำทั้งหมดได้ปลดระวางประจำการไปเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ รวมเวลารับใช้กองทัพเรือเป็นเวลา ๑๒ ปีเศษ เรื่องเรือดำน้ำ จึงได้กลายเป็น "อดีต" ไปแล้ว เหลือเพียงแต่เรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำของ "นักดำเรือดำน้ำ" ในยุคนั้นอีกเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
กองทัพเรือ ได้จัดงานวันที่ระลึกเรือดำน้ำขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สมาชิก อดีตทหารเรือ ที่เคยเป็นนักดำเรือดำน้ำ กลุ่มชมรมเรือดำน้ำ และนายทหารประจำการที่เคยศึกษาวิชาเรือดำน้ำยุคใหม่ได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งได้ร่วมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับนักดำเรือดำน้ำไทยในอดีตที่ล่วงลับไปแล้ว สำหรับปีนี้ตรงกับวันหยุดราชการ จึงได้กำหนดจัดงานในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ โดยภายในงานจัดนิทรรศการและพบปะสนทนากับสมาชิกชมรมนักดำเรือดำน้ำ (ที่มา : กพร.ทร.)

ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดงาน "นาวีวิจัย สู่มิติใหม่ มั่นคง พัฒนา"

         ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๔ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดงาน "นาวีวิจัย สู่มิติใหม่ มั่นคง พัฒนา" ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ การจัดงาน "นาวีวิจัย สู่มิติใหม่ มั่นคง พัฒนา" มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยของกองทัพเรือและหน่วยงานภายนอก ภายในงานมีการมอบประกาศเกียรติคุณนักวิจัยดีเด่น การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "การวิจัยกับกองทัพเรือ จากอดีตสู่มิติใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" การเสวนาหัวข้อ "ทิศทางการวิจัย สู่มิติใหม่ มั่นคง พัฒนา" การสัมมนาหัวข้อ "แนวทางการวิจัย เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การใช้กำลังของกองทัพเรือ" การจัดนิทรรศการ และการสาธิตการใช้งานผลวิจัยกองทัพเรือ โดยภายในงานนี้จะมี ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ข้าราชการจากกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ รวมทั้งอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป (ที่มา : สวพ.ทร.)