วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใดและควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น"
         พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี

หุบกะพงตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเขาใหญ่และตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อยู่ห่างจากจังหวัดเพชรบุรี ๔๐ กิโลเมตร และอยู่ห่างเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๓๔ กิโลเมตร
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ และเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดใกล้เคียง พระองค์ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร กลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน ๘๓ ครอบครัว ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรีหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้จัดหาที่ดินในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรดังกล่าว
         รัฐบาลอิสราเอล โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ขอทราบหลักการของโครงการและอาสาช่วยเหลือในการพัฒนาการเกษตรในรูปของผู้ เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ทำสัญญาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล มีกำหนดระยะเวลา ๕ ปี เริ่มวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ ถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๔ ใช้ชื่อว่า โครงการไทย - อิสราเอล เพื่อพัฒนาชุมชน (หุบกะพง) โดยเลือกที่ดินบริเวณหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตรของโครงการ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำริให้กันพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เมื่อมีแนวพัฒนาที่ดินดีขึ้นแล้ว ก็จะจัดให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในตอนต้น และเกษตรกรที่ขยันหมั่นเพียรแต่ขาดแคลนที่ดินทำกินเข้ามาอยู่อาศัยและทำ ประโยชน์ และการอพยพครอบครัวเกษตรกรได้จัดให้อยู่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร โดยมีทางราชการเข้าช่วยเหลือให้คำแนะนำการบริหารงานของหมู่บ้านตัวอย่าง และมีการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับหลักและวิธีการสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อว่า "สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด" เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน ๓ ฉบับ รวมเนื้อที่ ๑๒,๐๗๙ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเจ้าของโครงการ โครงการนี้ส่งผลให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง มีแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการตามพระราชประสงค์ ต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในสหกรณ์หมู่บ้าน สร้างความสามัคคีให้ชุมชนและทำให้คนในชุมชนยอมรับฟังข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะ ของกันและกัน (ที่มา : กพ.ทร.)

กองทัพเรือ ร่วมวางพวงมาลาสักการะดวงวิญญาณวีรชนชาวบ้านบางระจัน

วันนี้ (๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘) เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเรือตรี สมคิด พิมลสมบูรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะ ร่วมประกอบพิธีวางพวงมาลาสักการะดวงวิญญาณวีรชนชาวบ้านบางระจัน ณ บริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น และอุทยานวีรชนค่ายบางระจัน ตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
         จังหวัดสิงห์บุรี จัดงาน "สดุดีวีรชนค่ายบางระจัน" ระหว่างวันที่ ๔ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ผู้กล้าหาญที่เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยด้วยการสู้รบกับพม่า รวมเวลาต่อสู้กับพม่านานถึง ๕ เดือน ชาวบ้านบางระจันทุกคนปักหลักต่อสู้อย่างองอาจกล้าหาญจนตัวตาย เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยให้คงอยู่ ก่อนที่จะพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ พุทธศักราช ๒๕๐๙ วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันยังคงตราตรึงอยู่ในใจของคนไทยตราบนานเท่านาน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติให้คนไทยทุกคนเห็นความสำคัญของพวกเขาเหล่านั้น จังหวัดสิงห์บุรี จึงได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ให้กับผู้นำค่ายบางระจันทั้ง ๑๑ ท่าน ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวัน ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ความกล้าหาญ รักชาติ ของชาวบ้านบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จึงกำหนดให้ทุกวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสดุดีวีรชนค่ายบางระจัน และมีการจัดงานเฉลิมฉลองทุกปีตลอดมา โดยภายในงาน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงและวางพวงมาลาสักการะดวงวิญญาณวีรชนชาวบ้านบางระจัน พิธีสงฆ์ พิธีสวนสนามของทหาร ตำรวจ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน นักศึกษาวิชาทหาร ลูกเสือชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พิธีเจริญจิตภาวนาและปฏิญาณตนของนักเรียนนักศึกษา การจัดแสดงหมู่บ้านวิถีชีวิตชาวค่ายบางระจัน กิจกรรมปั่นจักรยานเยี่ยมบ้านวีรชน การแสดงแสง สี เสียง ชุด "สำนึกรักบางระจันทดแทนคุณแผ่นดิน" และการแสดงจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ๒ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี (ที่มา : กพ.ทร.)

สำนักงานทหารเรือหญิง เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนร่วมกิจกรรมสาธารณกุศล

 สำนักงานทหารเรือหญิง จะจัดกิจกรรมสาธารณกุศล ประจำปี ๒๕๕๘ ประกอบด้วย การจัดถุงของขวัญเยี่ยมทหารเรือที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๒๐๐ ชุด ชุดละ ๕๐๐ บาท, การทำบุญสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเอดส์ วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดสระบุรี และทำบุญจัดเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กพิการซ้ำซ้อน บ้านราชาวดี ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
         จึงขอเชิญชวนข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการกองทัพเรือที่มีจิตศรัทธาร่วมกันทำบุญบริจาคทุนทรัพย์ ได้ที่ ผู้แทนทหารเรือหญิงประจำหน่วย หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขากองบัญชาการกองทัพเรือ บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี "สำนักงานทหารเรือหญิง" เลขที่ ๑๑๕ - ๒ - ๐๐๖๔๔ - ๙ และส่งสำเนาใบฝากเงิน ดังกล่าวส่งไปยังหมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๕๔๑ หรือแจ้งได้ที่ นาวาโทหญิง วารุณี คลายภิรมย์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๕๔๓ หรือ ๐๘ ๖๙๗๕ ๗๔๓๙ ภายในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ สอบถามรายละเอียดได้ที่ นาวาเอกหญิง ปิยนาฎ เทียนศิริฤกษ์ เลขานุการสำนักงานทหารเรือหญิง หมายเลขโทรศัพท์ภายใน ๕๓๒๖๙ หรือ ๐๘ ๑๘๙๙ ๖๐๑๑ (ที่มา : สน.ทร.หญิง)

กรมสรรพาวุธทหารเรือ รับสมัครบุคคลพลเรือนเพื่อเลือกสรรเป็นพนักงานราชการ

กรมสรรพาวุธทหารเรือ มีความประสงค์จะรับสมัครบุคคลพลเรือน เพื่อเลือกสรรเป็นพนักงานราชการ จำนวน ๓๓ อัตรา ระยะเวลาการจ้างปีงบประมาณ ๒๕๕๘ จำนวน ๓๓ อัตรา แบ่งเป็นตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
         - ปฏิบัติงานในพื้นที่ กรมสรรพาวุธทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กลุ่มงานบริการ จำนวน ๘ อัตรา ได้แก่ พนักงานบริการ จำนวน ๔ อัตรา,พนักงานธุรการ จำนวน ๔ อัตรา และกลุ่มงานเทคนิค จำนวน ๖ อัตรา ได้แก่ ช่างสรรพาวุธ ฯ จำนวน ๓ อัตรา, ช่างปูน จำนวน ๒ อัตรา และ ช่างไม้ จำนวน ๑ อัตรา
         - ปฏิบัติงานในพื้นที่ กรมสรรพาวุธทหารเรือ บางนา กรุงเทพมหานคร กลุ่มงานบริการ จำนวน ๑ อัตรา เป็นพนักงานบริการ และกลุ่มงานเทคนิค จำนวน ๑๘ อัตรา ได้แก่ ช่างโลหะ จำนวน ๑๐ อัตรา, ช่างซ่อมเครื่องยนต์ จำนวน ๑ อัตรา, ช่างไฟฟ้า จำนวน ๒ อัตรา, ช่างกลดรงงาน จำนวน ๒ อัตรา, ช่างไม้ จำนวน ๑ อัตรา, ช่างสรรพาวุธ จำนวน ๑ อัตรา, ช่างสี จำนวน ๑ อัตรา
          หลักฐานและเอกสารการสมัคร ฉบับจริงพร้อมสำเนา ประกอบด้วย ใบประกาศนียบัตร หรือใบสุทธิ หรือระเบียนแสดงผลการเรียน, ทะเบียนบ้านของผู้สมัคร และบิดา มารดา กรณีบิดา หรือมารดาถึงแก่กรรม ต้องนำ ใบมรณบัตรมาแสดงด้วย, รูปถ่ายปัจจุบัน ขนาด ๒ นิ้ว, บัตรประจำตัวประชาชน, ใบรับรองแพทย์ และใบกองหนุนหรือใบแทนหรือหลักฐานที่แสดงว่าผ่านการคัดเลือกทหารกองประจำการ
          สนใจเข้าเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าว สมัครได้ที่ กองบังคับการ กรมสรรพาวุธทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และกองบังคับการ กรมสรรพาวุธทหารเรือ บางนา กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ถึง ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๕.๓๐ น. เว้นวันหยุดราชการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๖๑๑๘๐ ต่อ ๖๓๐๑๘, ๖๓๐๑๙ ในเวลาราชการ หรือดูได้ที่ ทางเว็บไซต์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ http://www.ordn.navy.mi.th , ทาง พี เคเบิ้ลทีวี และทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ สัตหีบ (ที่มา : สพ.ทร.)

กรมประมงเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเฝ้าระวังสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด หวั่นได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยหมดช่วง ฤดูฝน รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกในปี พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีปริมาณน้อยส่งผลกระทบให้เกิดภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิของอากาศและน้ำเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้นโดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน มกราคม - เดือนพฤษภาคมของทุกปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ประกอบกับปริมาณของสารเคมีและสารแขวนลอยในแหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณเข้มข้น ขึ้น ทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมของน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันอันจะส่งผลกระทบต่อ สุขภาพของสัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงได้
ในส่วนของกรมประมงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
        เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการป้องกันด้วยวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง
       ๑. จัดทำร่มเงาเพื่อลดปริมาณความร้อนของแสงแดดบริเวณกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ
       ๒. ลดปริมาณการให้อาหารลง 10 - 20 %
       ๓. เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ปลาในกระชัง โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำลงในกระชังเลี้ยงปลา หรือเดินท่อเติมอากาศให้กับปลาที่เลี้ยงในกระชังโดยตรง
       ๔. คัดเลือกสัตว์น้ำที่ได้ขนาดออกจำหน่าย เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของสัตว์น้ำในกระชัง
       ๕. ไม่ควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชังหนาแน่นเกินไป
       ๖. ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยลูกพันธ์สัตว์น้ำชุดใหม่ลงเลี้ยงหรือจำกัดปริมาณการ เลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม เพื่อดำเนินการพักซ่อมแซมกระชังและลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิด ขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำมีน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
       ๗. จัดแนวการเรียงตัวของกระชังให้แต่ละกระชังมีกระแสน้ำไหลผ่านมากที่สุด เพื่อให้ของเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำมีการถ่ายเทอย่างสะดวก
       ๙. ตรวจตราให้ความสนใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงที
        กรณีเกิดอาการผิดปกติของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
        สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน
          ๑. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมคันบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำและจัดทำร่มเงาให้กับสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง
          ๒. จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม
          ๓. ลดปริมาณให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย
          ๔. คัดสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง
          ๕. เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากก้นบ่อพ่นให้สัมผัสกับอากาศ แล้วไหลคืนลงบ่อหรือเดินท่อเติมอากาศลงน้ำโดยตรงเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับ ปลาที่เลี้ยงในบ่อ
          ๖. ปรับสภาพดินและคุณสมบัติของน้ำ เช่น น้ำลึก 1 เมตร ใส่ปูนขาว 50 กก./ไร่ ถ้าบ่อมีตะไคร่น้ำหรือแก๊สมากเกินไป ควรใส่เกลือ 50 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพผิวดินให้ดีขึ้น
         ๗. ตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำจากภายนอกที่จะสูบเข้าบ่อเลี้ยง เช่น หากพบว่ามีตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ เข้มข้น ควรงดการสูบน้ำเข้าบ่อ
         ๘. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณที่หนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
         ๙. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำถ้าจำเป็นควรระมัดระวังให้มาก เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
         ๑๐. ควรมีการวางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง หากมีแหล่งน้ำสำรองน้อยให้จำกัดปริมาณการเลี้ยง และเตรียมทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งเพื่อเตรียมไว้เลี้ยง สัตว์น้ำในรอบต่อไป
         ๑๑. ตรวจตราให้ความสนใสสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงที กรณีเกิดอาการผิดปกติของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
         ๑๒. ถ้าพบปลาในบ่อเลี้ยงหรือในกระชังป่วยหรือตายควรตักออกแล้วนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ถ้าพบปลาตายเป็นจำนวนมากผิดปกติ ให้รีบแจ้งสำนักงานประมงใกล้บ้านท่านให้ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขหรือความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด (ที่มา : กรมประมง)