วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ขอเชิญร่วมซื้อดอกแก้วกัลยาดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ เพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคนพิการในด้านต่าง ๆ

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดจัดงานวันคนพิการ ครั้งที่ ๔๘ ประจำปี ๒๕๕๗ ในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ภายในงานเปิดให้บริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ และจำหน่ายดอกแก้วกัลยาดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการทั่วประเทศ
        สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานวันคนพิการขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะสังสรรค์และสนุกสนานร่วม กัน ได้แสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ เผยแพร่วิทยาการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการบำบัดรักษาการป้องกันและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ประกาศเกียรติคุณบุคคลพิการตัวอย่าง ส่งเสริมให้คนพิการมีอาชีพและรายได้ที่เหมาะสม และเพื่อร่วมในการจัดงานวันคนพิการสากล การจัดงานวันคนพิการในปีนี้ เป็นครั้งที่ ๔๘ กำหนดขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ อาคารใหม่สวนอัมพร ภายในงานจะมีบริการออกบัตรประจำตัวคนพิการและให้ คำปรึกษาแนะนำ ให้บริการจัดหางาน บริการกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บริการด้านสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์ และบริการให้คำปรึกษาแนะนำทางสังคม
         สำหรับคนพิการที่ประสงค์จะทำบัตรประจำตัวคนพิการ กรุณานำสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย ๑ นิ้ว ๒ ใบ และใบประเมินความพิการของแพทย์ สำหรับผู้ดูแลคนพิการ กรุณานำสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๓๕๔ ๓๓๘๘
         นอกจากนี้ ได้จัดทำผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบจาก "ดอกแก้วกัลยา" ดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการ ซึ่งประดิษฐ์โดยคนพิการ นำมาจำหน่ายในโอกาสงานวันคนพิการ เพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคนพิการในด้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ
          ขอเชิญชวนสนับสนุนซื้อ "ดอกแก้วกัลยา" และร่วมกันติด "ดอกแก้วกัลยา" ระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม ๒๕๕๖ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงมีเมตตาต่อพสกนิกรและคนพิการทั่วประเทศ สามารถซื้อดอกแก้วกัลยาได้ที่ สำนักงานส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๑ ๒๘๔๑ และ ๐ ๒๒๔๑ ๒๘๔๑
(ที่มา : สภาสังคมสงเคราะห์ฯ)

กรมสวัสดิการทหารเรือ ขอเชิญร่วมไถ่ชีวิตโค - สุกร ครั้งที่ ๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล


กรมสวัสดิการทหารเรือ กำหนดจัด กิจกรรมไถ่ชีวิตโค - สุกร ประจำปี ๒๕๕๗ ครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ ศูนย์เกษตรกรรมกองทัพเรือ บางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวนโค ๑๐ ตัว และสุกร ๑ ตัว เพื่อมอบให้กับหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือ และเกษตรกรที่ยากจน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และประกอบอาชีพเกษตรกรรม
        จึงของเชิญผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินร่วมไถ่ชีวิตโค - สุกร ได้ที่ ฝ่ายการเงิน กองอาชีวะสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๙๗ หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารทหารไทย สาขาพรานนก บัญชีออมทรัพย์เลขที่ ๐๑๙ - ๗ - ๗๓๔๐๗ - ๒ ชื่อบัญชี เพื่อการกุศล กองอาชีวสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารเรือ และส่งเอกสารการโอนเงิน โดยระบุชื่อ - ที่อยู่ เพื่อจัดส่งใบเสร็จรับเงินที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๘๙ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนกวิชาการและการฝึก กองอาชีวสงเคราะห์ กรมสวัสดิการทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๙๒ สามารถดาวน์โหลดเอกสารทางเว็บไซต์ www.welfare.navy.mi.th, www.navyfarm.navy.mi.th/index4.htm (ที่มา : สก.ทร.)

พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ ณ วัดสังข์กระจาย วรวิหาร

วันนี้ (๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๔.๐๐ น. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ ณ วัดสังข์กระจาย วรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เพื่อสมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม
          กองทัพเรือมีนโยบายที่จะขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินกองทัพเรือเพื่อ ไปถวาย ณ พระอารามหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยโดยเสด็จพระราชกุศล บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้มั่นคงถาวร และอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์กฐินตามวินัย พุทธบัญญัติ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ
         วัดสังข์กระจาย ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนอิสรภาพ ริมคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ ใกล้สะพานเจริญพาศน์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร วัดนี้เดิมมีชื่อเรียกและเขียนกันหลายอย่าง คือ วัดสังกระจาย วัดสิงฆจาย วัดสังฆจายน์ วัดสังข์กัจจายน์
          วัดสังข์กระจายมีประวัติปรากฏอยู่ในหนังสือตำนานพระอารามหลวง ฉบับหอสมุดวชิรญาณว่า "อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ เป็นวัดโบราณ รัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาใหม่พระราชทานเจ้าจอมแว่นหรือนัยหนึ่งเรียกว่า คุณเสือ พระสนมเอก ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์" วัดสังข์กระจายมีเกียรติประวัติอันสูงส่งที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วยความภาคภูมิใจในที่นี้ คือ เป็นสำนักที่ให้กำเนิดวรรณคดีอันมีค่ายิ่งเรื่องหนึ่งที่มีรสไพเราะจับใจผู้อ่านผู้ฟังทั่วไป วรรณคดีเรื่องนั้นคือ มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก
         เกียรติคุณของวัดสังข์กระจาย ที่ขึ้นชื่อกว่าสิ่งอื่นใดจนถึงบัดนี้คือ สำนวนมหาชาติกลอนเทศน์กัณฑ์ชูชกที่กล่าวว่า สำนักวัดสังข์กระจายเป็นผู้แต่ง นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้อธิบายเรื่องมหาชาติกลอนเทศน์ และเรื่องแต่งสำนวนดีไว้ว่า "หนังสือมหาชาติแต่งสำหรับนักเทศน์ ซึ่งเรียกกันว่ามหาชาติกลอนเทศน์นั้น วิธีแต่งก็คือเอาคำบาลีทั้งที่เป็นคาถาและอรรถกถาลงไว้ แล้วแต่งความภาษาไทย ร่ายยาวต่อเข้าเป็นตอนสำหรับเทศน์ ด้วยประสงค์จะให้ฟังทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี มหาชาติกลอนเทศน์นี้เป็นที่นิยมกันแพร่หลายในพื้นเมืองยิ่งกว่าสำนวนเก่าและ มีผู้แต่งกันขึ้นมากมายหลายสำนวน ที่ว่าสำนักวัดสังข์กระจาย ฯ เป็นผู้แต่งกัณฑ์ชูชกนั้น ท่านแต่ก่อนคงจะยังไม่ทราบตัวผู้แต่งแน่ชัด ทราบแต่เพียงเค้าเงื่อนว่าท่านผู้แต่งอยู่ในสำนักวัดนี้ แต่ปัจจุบันลงความเห็นกันว่า พระเทพมุนี (ด้วง) เจ้าอาวาส วัดสังข์กระจาย องค์ที่ ๑ เป็นผู้แต่งในประกาศเรื่องบำเพ็ญพระราชกุศลเทศน์มหาชาติในรัชกาลที่ ๑ พุทธศักราช ๒๓๕๐ ก็มีข้อความตอนหนึ่งว่า "เจ้าจอมฝ่ายใน (คุณเสือ) รับกัณฑ์ชูชก พระเทพมุนี วัดสังขจายสำแดง" (ที่มา : กพ.ทร.)

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


"ผู้มีปัญญาและความรู้ดี เพราะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนมามากว่าผู้อื่น ย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบเป็นพิเศษ ที่จะต้องทำตัวทำงานให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การที่จะกระทำให้ได้ผลประโยชน์ ดังนั้น จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องรู้ซึ้งถึงประโยชน์ที่แท้เป็นเบื้องต้นก่อน ประโยชน์ที่แท้นั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตัว ที่ทุกคนมีสิทธิ์จะแสวงหาและได้รับ แต่ต้องด้วยวิถีทางที่สุจริตและเป็นธรรมกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติที่แต่ละคนมีส่วนร่วมอยู่ การทำงานทุกอย่างจะต้องให้ได้ประโยชน์แท้ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ประโยชน์นั้นจึงจะสมบูรณ์และมั่นคงถาวร เป็นผลดีแก่ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง"
        พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๙