วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้แล้ว การทำงานของท่านก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่น ๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้น ที่พูดกันว่าให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้นกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่า อนาคตจะ เป็นอย่างไร เราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน"
        พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๙

ราชนาวิกสภา กำหนดจัดปาฐกถา หัวข้อ "ศรชล. : ความคาดหวังและบทบาทที่ปรับเปลี่ยน" ใน ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘

ราชนาวิกสภา กำหนดจัดปาฐกถาประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ในหัวข้อ "ศรชล. : ความคาดหวังและบทบาทที่ปรับเปลี่ยน" ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น. โดยผู้ร่วมอภิปรายมี พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ, พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ, นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภา ความมั่นคงแห่งชาติ, รองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นาวาเอก เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ รองผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักนโยบายและแผน กรมข่าวทหารเรือ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของกองทัพเรือและผ่านทางสถานี วิทยุเสียงจากทหารเรือ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การปรับบทบาทของศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผล ประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นศูนย์อำนวยการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
        ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังปาฐกถาหัวข้อดังกล่าว ได้ตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว
(ที่มา : ราชนาวิกสภา)

กองทัพไทย พิจารณาคัดเลือกบุตรของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กรมกำลังพลทหารเรือ แจ้งว่า กองทัพไทย จะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกบุตรของกำลังพลผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ เรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอันตรายจนเสียชีวิตหรือ ปลดออกจากราชการ เนื่องจากพิการ ทุพพลภาพ และไม่บรรจุกลับเข้ารับราชการใหม่ เพื่อให้ได้รับทุนการศึกษา กำหนดส่งรายชื่อพร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และแบบรายงาน ให้ กรมกำลังพลทหารเรือ ภายในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม นี้สามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์และแบบรายงานได้ที่ http://info.navy.mi.th/person หัวข้อข่าวประชาสัมพันธ์
(ที่มา : กพ.ทร.)

เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้

โรคเบาหวาน อดีตเป็นโรคที่เรื้อรัง เนื่องจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติเวลารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็ก ๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์ คือ ฮอร์โมนอินสูลิน (Insulin) ที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน แต่ปัจจุบันเป็นเพียงโรคประจำตัวที่เมื่อผู้เป็นเบาหวานสามารถจัดการตนเอง ให้ควบคุมระดับน้ำตาลที่ใกล้เคียงปกติ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
         ในผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินสูลินหรืออินสูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ "โรคเบาหวาน" กล่าวคือ ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ และหากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะสลายไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล สารที่ได้เรียกว่า "กรดคีโตน" ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก และอาจทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวได้
         อย่างไรก็ดี ชนิดของ เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น มีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เบาหวานชนิดที่ ๑ (Type 1 DM) พบได้ประมาณ ร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น อายุน้อยกว่า ๑๕ ปี เบาหวานชนิดที่ ๑ ในประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดมี ประมาณร้อยละ ๓ ของผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศ มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำ หน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ (ร่างกายขาดอินซูลิน) เมื่อแรกพบผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด
          สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลาย ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่า เกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น การรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าผิวหนัง วันละ ๒ - ๔ ครั้ง และจัดการอาหารในแต่ละมื้อให้สมดุลกับยาฉีดอินซูลิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดและยังไม่พบวิธีที่จะป้องกัน แพทย์และนักวิจัยต่างพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ ๑ และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป
          เมื่อใดควรมาพบแพทย์ เป็นคำถามที่ดี ถ้าบุตรหลานของท่านมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ กินจุ ผอมลง ปัสสาวะมีมดตอม เป็นแผลหายช้า ติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน หรือมีปื้นดำที่คอ ควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
        ลองสังเกตดูว่า บุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคต (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์)