วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรคที่มากับน้ำท่วม รู้ไว้ ป้องกันได้

 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ได้แก่
        - โรคตาแดง จะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง อาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้างหนึ่ง
วิธีป้องกัน ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที, ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา, ไม่ควรใช้สายตามากนัก และแยก ผู้ป่วยโรคตา ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น - ไข้เลือดออก มีอาการ ไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา
        วิธีป้องกัน ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน โดยนอนในมุ้งทายากันยุง และกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านทุกสัปดาห์ โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ คว่ำหรือทำลายภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง
        - โรคทางเดินหายใจ อาการ มีไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
        วิธีป้องกัน ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ และสวมเสื้อผ้าให้หนาพอ หากอากาศเย็น, หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด, ปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่
        - โรคทางเดินอาหาร อาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อย ตามตัว เบื่ออาหาร
        วิธีป้องกัน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดไม่บูดเสีย อาหารกระป๋องยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม, ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำขวด, ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนปรุงและเตรียมอาหารก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย และห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ให้ถ่ายลง

ในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวในจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงดำ (ถุงขยะ)
       - โรคฉี่หนู อาการ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน
       - โรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง
       วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น, ถ้ามีบาดแผลต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกน้ำโดยสวมรองเท้าบู๊ทยาง และหากต้องลุยน้ำย่ำโคลนต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอโดยเร็วที่สุด
       - อุบัติเหตุจากไฟดูด จมน้ำ บาดเจ็บจากการเหยียบของแหลมมีคม
        วิธีป้องกัน ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัดเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง, เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคมในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
(ที่มา : กรมควบคุมโรค)

กองทัพเรือจัดเดินรถบริการผู้ประสบอุทกภัย ๔ เส้นทาง

   กองทัพเรือ โดย กรมการขนส่งทหารเรือ ได้จัดรถบรรทุกขนาดใหญ่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ โดยแบ่งเส้นทางการเดินรถเป็น ๔ เส้นทาง ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐ น. - ๑๙.๐๐ น. ของทุกวัน ดังนี้
            - คันที่ ๑ เส้นทาง แยก ๓๕ โบว์ล - โรงพยาบาลยันฮี - แยก ๓๕ โบว์ล
            - คันที่ ๒ เส้นทาง แยก ๓๕ โบว์ล - แยกบางขุนนนท์ - แยก ๓๕ โบว์ล
            - คันที่ ๓ เส้นทาง แยก ๓๕ โบว์ล - ห้างสรรพสินค้าเซ็ลทรัลปิ่นเกล้า - สถานีขนส่งสายใต้ (เดิม) - แยก ๓๕ โบว์ล
            - คันที่ ๔ เส้นทาง โรงพยาบาลศิริราช - ข้ามสะพานอรุณอมรินทร์ - แยกอรุณอมรินทร์ - แยก ๓๕ โบว์ล - ห้างสรรพสินค้าพาต้า - โรงพยาบาลศิริราช
           นอกจากนี้ ยังได้จัดเรือเครื่องยนต์ติดท้ายช่วยในการลำเลียงและอพยพประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งนำถุงยังชีพไปแจกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยฐานทัพเรือกรุงเทพ
(ที่มา : กพร.ทร.)

กองทัพเรือ รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

กองทัพเรือ รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมจัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์จากหน่วยเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำและทาง บก ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
กองทัพเรือ ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัยได้ที่ ศูนย์รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ฯ กองทัพเรือ ได้ที่ ธนาคารทหารไทย สาขากองบัญชาการกองทัพเรือ บัญชีประเภทออมทรัพย์ หมายเลขบัญชี ๑๑๕ - ๒ - ๑๔๓๒๒ - ๖ ชื่อบัญชี "ศูนย์รับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและภัยหนาว กองทัพเรือ" และร่วมบริจาคสิ่งของได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ที่หน่วยต่าง ๆ ดังนี้
         - กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ (ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง) ถนนมหาราช เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๒๒, ๐ ๒๔๗๕ ๓๐๓๖- ฐานทัพเรือกรุงเทพ (ตรงข้ามวัดชิโนรส) ถนนอิสรภาพ แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๕๓๒๗, ๐ ๒๔๑๑ ๓๑๗๕
         - กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๕๙๒ และ ๐ ๒๔๗๕ ๓๕๕๕
         - โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๙๖๓ และ ๐ ๒๔๗๕ ๓๙๑๘
         - หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๘-๔๓๑๕๐๒ หรือ ๐๓๘-๔๓๑๔๗๗
         สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ๑๖๙๖ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
         สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสาขาต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน จากอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ หน่วยเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำ กองทัพเรือ ตั้งอยู่ที่ กองบังบัญชาการ กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๓๓๑๕, ๐ ๒๔๗๕ ๓๓๑๖, ๐ ๒๔๑๒ ๖๙๖๔ หมายเลขโทรสาร ๐ ๒๔๗๕ ๓๓๑๔ หรือหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ๐๘๐ ๘๐๘ ๐๔๘๘ และ ๐๘๑ ๘๓๕ ๕๒๗๓
         พร้อมกันนี้ หน่วยเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางบก ฐานทัพเรือกรุงเทพ เป็นหน่วยดำเนินการให้ความช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยในพื้นที่ทางบก กับรับผู้ประสบภัยที่หน่วยเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางน้ำให้การช่วยเหลือ เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์อพยพหรือพื้นที่ปลอดภัย ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก หน่วยบรรเทาสาธารณภัยทางบก ฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๕๒๖๙ (ที่มา : สลก.ทร.)

แจ้งความคืบหน้าสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด

แจ้งความคืบหน้าสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย   กรมกำลังพลทหารเรือ แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการสิทธิประโยชน์ของ ข้าราชการที่เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดใน ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ ซึ่งมีผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
            - กรณีขอรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ เงินช่วยเหลือข้าราชการ และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรมบัญชีกลางจะเริ่มสั่งจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นไป และจะจ่ายครบทุกนาย ไม่เกินเดือนมีนาคม ๒๕๕๕
            - กรณีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ ได้รับสิทธินับเวลาราชการทวีคูณย้อนหลัง เงินเดือนเพิ่มขึ้น หรือได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบเพิ่มขึ้น ขอให้ไปติดต่อขอรับบำนาญเพิ่ม พร้อมสำเนาเอกสารหนังสือสั่งจ่ายบำนาญ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัญชีธนาคาร อย่างละ ๒ ชุด และรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
         ขอแจ้งให้ผู้ที่เข้าโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดได้รับทราบ ถึงสิทธิประโยชน์และความคืบหน้าในการดำเนินการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ กองทะเบียนพล กรมกำลังพลทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๖๗๙ (ที่มา : กพ.ทร.)