วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

กองทัพเรืออินโดนีเซียจะได้รับ รจอ.KCR-40 เพิ่มเติมอีก ๔ ลำ ในสิ้นปี ๒๕๕๗

 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า กองทัพเรืออินโดนีเซียจะได้รับ รจอ.KCR-40 เพิ่มเติมอีก ๔ ลำ ภายในสิ้นปี ๒๕๕๗ โดยเรือ ดังกล่าวต่อที่อู่ต่อเรือ PT PAL และ PT Citra Shipyard ของอินโดนีเซีย มีความยาว ๔๔ เมตร ความเร็วสูงสุด ๓๐ นอต ติดตั้งอาวุธนำวิถี พื้น - สู่ - พื้น C-705 ปืนเรือ Denal Vektor G12 และปืนกล ๑๒.๗ มิลลิเมตร อนึ่ง ตามกำหนดการกองทัพเรือ อินโดนีเซียต้องการนำเรือชั้นดังกล่าวเข้าประจำการทั้งหมด ๙ ลำ ภายในปี ๒๕๕๗ (ที่มา : ขว.ทร.)

กองการฝึก กองเรือยุทธการ ทำการฝึกกำลังพลทดแทน ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมและให้เกิดความชำนาญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

 กองการฝึก กองเรือยุทธการ ทำการฝึกกำลังพลทดแทน ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือ เกาะช้าง และศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน ระหว่างวันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึง ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ บริเวณอาคาร กองฝึกเดินเรือและการเรือ กองการฝึก กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
        การฝึกกำลังพลทดแทน ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือ เกาะช้าง และศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลและเจ้าหน้าที่ ให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางน้ำ ชายหาดและการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี รวมทั้งให้กำลังพลมีความรู้ ความชำนาญ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจเข้มแข็งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล พร้อมที่จะปฏิบัติงานตรากตรำในถิ่นทุรกันดารได้ และให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วโลก อันเป็นหลักประกันด้านความปลอดภัยทางทะเลให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในทะเลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดการปฏิบัติให้กับประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ในระดับหนึ่ง (ที่มา : กฝร.)

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "กินน้ำเผื่อแล้ง"

 กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "กินน้ำเผื่อแล้ง"
        ข้อมูลจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพบว่า ประเทศไทยต้องใช้เงินเกือบสามแสนล้านบาทต่อปีเพื่อนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมา ให้คนไทยได้ใช้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้พลังงานอย่าง ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้มากเกินความจำเป็น ขาดความเอาใจใส่ ความรอบคอบ ไม่ได้คิดก่อนใช้ ทำให้เกิดการรั่วไหลสูญเปล่าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาทางลดภาระนี้ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๑๐ จากที่เคยใช้กันอยู่ จึงจะประหยัดเงินตราต่างประเทศได้เกือบสามหมื่นล้านบาท
        เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ กองทัพเรือได้มีนโยบายให้กำลังพลร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการประหยัด อย่างเคร่งครัด เช่น มาตรการประหยัดไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำประปา เป็นต้น การให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ
        ๑. เป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตราย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของโลกในเวลานี้คือ "ภาวะเรือนกระจก" ปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของโลก โดยปัญหาด้านมลภาวะนี้ก็ยังส่งผลไปถึงปัญหาด้านสุขภาพของมนุษย์อีกด้วย
        ๒. เป็นการร่วมด้วยช่วยหน่วยประหยัดค่าใช้จ่าย หากกำลังพลในกองทัพเรือ ต่างตั้งใจช่วยกันประหยัดพลังงานอย่างจริงจังแล้ว ย่อมจะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในทุก ๆ เดือนของหน่วยลดลง
        ๓. เป็นการช่วยเหลือชาติโดยตรง เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยเรา ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมัน รวมถึงก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศอีกจำนวนมาก เนื่องจากยังไม่สามารถผลิตพลังงาน ที่มีอยู่ภายในประเทศ ให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้
           หากกำลังพลกองทัพเรือให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยคิดเสมอว่า "ของหลวงคือของเรา" มีความรอบคอบสักนิดคิดก่อนใช้ เราก็จะประหยัดพลังงานลงได้อย่างมาก นั่นหมายถึง การประหยัดเงินที่ต้องใช้จ่ายออกนอกประเทศ เพียงเท่านี้ ก็จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยและได้ช่วยประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม อย่าให้เป็นดังสำเนาไทยที่ว่า "กินน้ำไม่เผื่อแล้ง" คือ มีอะไรใช้หมดทันทีไม่คิดถึงวันข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้น โลกอาจประสบภาวะขาดแคลนพลังงาน และเราก็อาจจะไม่มีพลังงานไว้ให้ใช้อีกต่อไป ดังนั้น การร่วมด้วยช่วยกันประหยัดพลังงานในวันนี้ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามคุณธรรมข้อสันโดษ คือ ความพอเพียงแล้ว ยังถือเป็นการแสดงออกถึงความมีจิตสำนึกที่ดี มีจิตอาสาและมีจิตสาธารณะของข้าราชการไทยอีกด้วย (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)

รองเสนาธิการทหารเรือ และคณะ เยี่ยมทหารป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

พลเรือโท ยุทธนา เกิดด้วยบุญ รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือไปเยี่ยมทหารที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทหารบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมมอบเงินบำรุงขวัญ (ที่มา : กพ.ทร.)

กองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ครั้งที่ ๘ ระหว่าง ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗

กองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ครั้งที่ ๘ ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพมหานคร โดยจะมีพิธีเปิด ฯ ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. มี พลเรือเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานเปิดการประชุม และมีผู้บัญชาการทหารเรือ จาก ๙ ชาติในอาเซียน เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ไทย บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
         การประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ในครั้งนี้ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุม จะมีการหารือเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในแต่ละภูมิภาค รวมถึงแผนงานกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวงรอบ ๒ ปี ข้างหน้า โดยกองทัพเรือได้กำหนดประเด็นหลักหรือบริบทของการประชุม คือ บทบาทของกองทัพเรืออาเซียน ภายหลังมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี คริสต์ศักราช ๒๐๑๕ (Roles for the ASEAN Navies after ASEAN Integration 2015 ) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะเกิดขึ้นจริงในภูมิภาคนี้ ในปีหน้า หรือ " Roles for the ASEAN Navies after ASEAN integration 2015 "
        การประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ ใช้ชื่อการประชุมว่า ASEAN Navy Interact โดยแต่ละประเทศได้มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในปี ๒๕๕๔ ได้มีการเปลี่ยนชื่อการประชุมเป็น ASEAN Navy Chiefs' Meeting (ANCM) รวมทั้งได้เห็นชอบข้อกำหนดสำหรับการประชุม หรือ Term of Reference (TOR) สำหรับใช้ยึดถือปฏิบัติในการประชุมด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เป็นเวทีปรึกษา หารือ แลกเปลี่ยนมุมมองต่าง ๆ ของผู้บัญชาการทหารเรือในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันและพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรืออาเซียน เพื่อให้ทันกับสิ่งท้าทายใหม่ ๆ โดยการหารือและพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ นั้น จะอยู่บนหลักการสำคัญ คือ การไม่ก้าวก่ายในกิจการภายในของแต่ละประเทศ เคารพสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน โดยความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ จะเป็นไปด้วยความสมัครใจ และโดยความเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาคมอาเซียน
         สำหรับประโยชน์ที่กองทัพเรือไทย จะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในระดับกองทัพเรือแต่ละประเทศแล้ว ยังทำให้ได้รับทราบถึงมุมมอง และแนวคิดของผู้บัญชาการทหารเรือในอาเซียน เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในทะเล การป้องกันและปราบปรามโจรสลัดและการกระทำอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมายของรัฐชายฝั่งแต่ละประเทศ รวมถึงการก่อการร้ายทางทะเล เป็นต้น
         นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ กองทัพเรือ ยังเตรียมที่จะเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดพิธีสวนสนามทางเรือนานาชาติในปี พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี การก่อตั้งอาเซียน รวมทั้งจะเสนอแนวความคิดให้จัดการฝึกผสมทางเรือแบบพหุภาคีระหว่างกองทัพเรือ ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนด้วย ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ หากได้รับการยอมรับและสามารถพัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริงแล้ว ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ ในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ระหว่างกองทัพเรือในอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทในภูมิภาคและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กองทัพเรือ ไทยและประเทศชาติโดยรวมอีกทางหนึ่ง
        (อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ ๕ ประเทศสมาชิก อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้มีการลงนามร่วมกัน ที่วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อให้ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการครองชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ และความเจริญในทางเทคนิค วิชาการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิก อาเซียนทั้งหมด ๑๐ ประเทศ ) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไม่มีผู้บัญชาการทหารเรือ เพราะประเทศไม่ติดทะเล ทำให้การประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน มีผู้บัญชาการทหารเรือจาก ๙ ประเทศ เข้าร่วมประชุม (ที่มา : สลก.ทร.)

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 "คนไทย รักษาชาติ รักษาแผ่นดิน เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาได้ ด้วยสติปัญญาความสามารถ และด้วยคุณความดี อิสรภาพ เสรีภาพ ความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดจนความเจริญ ทุกอย่างที่มีอยู่บัดนี้ เราทั้งหลายในปัจจุบัน จึงต้องถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบอย่างสำคัญ ในอันที่จะรักษาคุณความดี พร้อมทั้งจิตใจที่เป็นไทยไว้ให้มั่นคงตลอดไป"
         พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี
เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑