วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "กำลังใจ"


กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "กำลังใจ"
         ในการปฏิบัติภารกิจประจำวันของคนเรา กำลังใจนับว่ามีส่วนสำคัญช่วยผลักดันให้ภารกิจต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปได้โดยง่าย ดังมีคำกล่าวไว้ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว หรือ กายเหมือนหุ่นใจเหมือนคนเชิดหุ่น สอดรับกับพุทธภาษิตที่ว่า "ทุกอย่างมีใจเป็นหัวหน้า มีใจสำคัญ ขึ้นอยู่ที่ใจ ถ้าใจดี การทำการพูดก็ดี ถ้าใจเสีย การทำการพูดก็เสีย ส่งผลเป็นความสุขหรือทุกข์ที่ติดตามเราไปเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น"
          ในแวดวงกีฬา กำลังใจนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นักกีฬาที่พอรู้ตัวว่าตัวเองจะพ่ายแพ้ในการแข่งขันแต่อาศัยกำลังใจรวมเป็นหนึ่ง คิดว่าตนต้องเอาชนะให้ได้แล้วฮึดสู้ ภายหลังก็สามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้
          คนที่ขาดกำลังใจมักแสดงออกในรูปแบบของความเฉื่อยชา ท้อแท้ ไม่สดชื่น ไม่อยากทำอะไร หรือถึงทำก็ทำแบบหมดกำลังใจ ที่เรียกว่าซังกะตาย ผลงานไม่เรียบร้อย ไม่น่าชื่นชม หาความสดชื่นแจ่มใสได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลให้กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย คิดสั้น มีอารมณ์วู่วามหวั่นไหวง่าย ทำให้บั่นทอนความเจริญก้าวหน้าในชีวิต ตรงข้ามกับคนที่มีกำลังใจมักเป็นคนมีความกระตือรือร้น บากบั่นมุมานะอดทน ร่าเริงแจ่มใส หนักแน่นเยือกเย็น สามารถคลี่คลายปัญหาชีวิตที่ยุ่งยากสำเร็จได้โดยง่าย มองโลกในแง่ดีเสมอ
         ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่าแล้วจะทำอย่างไรให้มีกำลังใจ นั่นคือ ต้องมีหลักปฏิบัติอย่างน้อย ๓ ประการ ดังต่อไปนี้คือ
           ๑. ต้องเชื่อมั่นตนเองว่า จะทำงานนั้นสำเร็จให้ได้ ไม่มีอะไรที่คนอื่นทำได้แล้วเราทำไม่ได้ และเขาก็ไม่ได้ทำเป็นมาแต่แรกเกิดเหมือนกับเราเช่นกัน
           ๒. พยายามทำดีในทุกรูปแบบ งานใดที่ตนไม่ถนัดไม่เชี่ยวชาญ ต้องพยายามขวนขวายหาความรู้ ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ และเพียรประพฤติตนเป็นคนดีให้ผู้อื่นยึดถือเป็นต้นแบบได้ เพื่อปิดช่องทางแห่งการถูกตำหนิติเตียน
           ๓. หลีกเลี่ยงอบายมุขทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเคยชินหรือถูกเพื่อนชักจูง ระลึกเสมอว่า อบายมุขคือทางเดินไปสู่ความตกต่ำของชีวิต
           เมื่อยามที่เรารู้สึกท้อแท้สิ้นหวังหมดกำลังใจ ลองนำแนวทางดำเนินชีวิตข้างต้นไปปฏิบัติดูบ้างแล้วจะพบว่า ชีวิตนี้ยังไม่สิ้นหวัง โลกนี้ยังน่าอยู่และมีอะไรที่น่าอภิรมย์อีกมากมาย
(ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ร่วมพิธีปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ ๒๑

พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ร่วมพิธีปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ ๒๑ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปทุมธานี โดยมี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานกรรมการดำเนินการโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" เป็นประธานในพิธีปิด
          คณะกรรมการดำเนินโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" มี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานโครงการ ฯ ได้จัดกิจกรรมโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" เป็นประจำทุกปี โดยนำเยาวชนจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้มาทำกิจกรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อปลูกฝังความเป็นปึกแผ่นและเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ ๒๑ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒ เมษายน - ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยกองทัพเรือสนับสนุนให้คณะเยาวชน ครู และเจ้าหน้าที่ จำนวน ๒๗๐ คน เยี่ยมชมเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ พร้อมรับฟังการบรรยาย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้"
(ที่มา : กพร.ทร.)

ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗

วันนี้ (๓๐ เมษายน ๒๕๕๗) เวลา ๐๖.๕๕ น. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการ และคณะ ตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ บนเรือหลวงอ่างทอง และกรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จังหวัดนราธิวาส โดยในช่วงเช้าเป็นการชมการปฏิบัติการของ AAV จากเรือหลวงสุรินทร์ คลื่นที่ ๒ ลงน้ำ จำนวน ๙ คัน, ชมการปฏิบัติของกองเรือเฉพาะกิจสะเทินน้ำสะเทินบก และการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกทางอากาศ
        จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือและคณะ เดินทางไปยังกรมทหารราบที่ ๓ กองพลนาวิกโยธิน ชมการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก บริเวณหน้าหาด โดยมี พลเรือโท สนธยา น้อยฉายา ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ให้การต้อนรับ
        การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นการฝึกทดสอบขีดความสามารถและประสิทธิภาพของหน่วยกำลังรบและหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ ของกองทัพเรือให้ดำรงความพร้อมรบ ทั้งด้านองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งความสำเร็จของกองทัพเรือและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติต่อไป (ที่มา : สลก.ทร.)

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

  "ชาติบ้านเมือง คือ ชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาประเทศชาตินั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ คน ที่จะต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไปโดยสอดคล้องเกื้อกูนกัน"
          พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ๘ มิถุนายน ๒๕๑๔