วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ราชนาวีสโมสร รับสมัครลูกจ้างชั่วคราวเพื่อปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าห้องอาหาร

ราชนาวีสโมสร รับสมัครลูกจ้างชั่วคราวเพื่อปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าห้องอาหาร (กัปตัน)
 ราชนาวีสโมสร เปิดรับสมัครลูกจ้างชั่วคราวปฏิบัติงานเป็นหัวหน้าห้องอาหาร (กัปตันห้องสินธูทัศนา ๒, ๓ และห้องนาวีสันต์) จำนวน ๑ นาย มีเงินค่าตอบแทน เงินนอกเวลาวันราชการ เงินนอกเวลาวันหยุดราชการ เงินโบนัสประจำปี และประกันสังคม โดยเปิดรับเพศชาย อายุไม่เกิน ๓๕ ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ขึ้นไป มีประสบการณ์ในการเป็นหัวหน้าห้องอาหาร ร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม สนใจสมัครและสอบถามข้อมูลได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔ ที่ ราชนาวีสโมสร ท่าช้าง วังหลวง กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๕๖๕๙ (ที่มา : ราชนาวีสโมสร)

เรือหลวงสิมิลันปราบโจรสลัดจับกุมได้ ๖ คน

  เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔) เรือหลวงสิมิลัน เข้าช่วยเหลือเรือสินค้า MSC NAMIBIA II ขนาด ๒๔,๐๐๐ ตัน สัญชาติ ไลบีเรีย ที่วิ่งออกจากปากอ่าวเอเดน มุ่งหน้าไปสู่ท่าเรือซาลาล่าห์ ประเทศโอมาน ห่างจากเยเมน ๗๐ ไมล์ทะเล ถูกโจรสลัดโจมตียิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่ โดยเรือหลวงสิมิลันสั่งการให้เฮลิคอปเตอร์เบลล์ ๒๑๒ บินขึ้นไปตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พบเรือ skiff แล่นหนีไปทิศใต้ทางฝั่งโซมาเลีย เจ้าหน้าที่จึงบินกดดัน เพื่อขัดขวางการโจมตี จนลูกเรือโจรสลัด ๖ คน ยอมหยุดเครื่อง ต่อมาเรือ USS Howard ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ ๑ ลำ เข้ารับผิดชอบสถานการณ์ในการตรวจค้นเรือ skiff โดย เรือหลวงสิมิลันและ เฮลิคอปเตอร์ประจำเรือบินคุ้มกัน เรือสินค้า MSC NAMIBIA II ต่อไปจนกว่าจะออกนอกพื้นที่ลาดตระเวน และส่งต่อหน้าที่คุ้มกันต่อให้กับ USS WHITBEY ISLAND ซึ่งลาดตระเวนอยู่ในพื้นที่ถัดไป (ที่มา : มปจ.)

การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการยังชีพในทะเล/บก

การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการยังชีพในทะเล/บก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔
        วันนี้ (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔) กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ ทำการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการยังชีพในทะเล/บก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๔ ณ พื้นที่การฝึกบริเวณจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และอ่าวไทยตอนบน โดยมี นาวาเอก สิทธิศักดิ์ ศิริวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน ๒ กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ เป็น ผู้อำนวยการฝึก ฯ
การฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการยังชีพในทะเลและบกในปีนี้ ทำการฝึกระหว่างวันที่ ๒๕ สิงหาคม ถึงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔ มีความมุ่งหมายของการฝึกเพื่อให้กำลังพลที่ปฏิบัติงานกับอากาศยาน มีความรู้ ความเข้าใจ ในกระบวนการวางแผนค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจในกรณีที่อากาศยานเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนการยังชีพทั้งในทะเลและบนบก สำหรับการฝึกแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น ได้แก่ ขั้นการวางแผนและ อบรมทฤษฎีภายในห้องเรียนและฝึกในที่ตั้ง ขั้นการฝึกภาคสนามและภาคทะเล และขั้นการวิจารณ์การฝึก โดยมีหัวข้อการฝึก ประกอบด้วย การอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การวางแผนการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล การอบรมทฤษฎีการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพื้นที่การรบ การช่วยเหลือคนจมน้ำ การใช้อุปกรณ์ประจำเฮลิคอปเตอร์และการใช้งานแพชูชีพ ทฤษฎีการยิงปืนพกและปืนเล็กยาว เอ็ม ๑๖ การฝึกเดินแผนที่และเข็มทิศในเวลากลางวันและกลางคืน การดำรงชีพในป่าและในทะเล การสร้าง ที่พักแรม รวมทั้งการฝึกทดสอบกำลังใจ โดดหอสูงและโรยตัวทางดิ่ง การฝึกว่ายน้ำเพื่อการดำรงชีพ และการออกจากอากาศยานขณะจมอยู่ใต้น้ำ การฝึกจำลองสถานการณ์การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการฝึกเดินทางไกลและหลบหลีกหนีออกจากพื้นที่การรบ (ที่มา : กร.)

ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายกำลังพล เยี่ยมทหารที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่

  วันนี้ (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔) เวลา ๑๐.๓๐ น. พลเรือโท พจนา เผือกผ่อง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายกิจการพลเรือน เป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะเดินทางไปเยี่ยมทหารที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ที่พักรักษาตัวอยู่ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ แขวงบุคคโล เขตสำเหร่ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ (ที่มา : กพ.ทร.)

พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา

พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ภายในบริเวณกรมอู่ทหารเรือ
   วันนี้ (๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔) เวลา ๑๕.๐๐ น. พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ตามโครงการ "พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔" ณ อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา (อาคารแผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ) ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
กรมอู่ทหารเรือ ได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านการต่อเรือและอุตสาหกรรมอู่เรือของประเทศ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ผลงานการต่อเรือและงานช่างกรมอู่ทหารเรือที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณะและอนุรักษ์อาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมสวยงามและเก่าแก่ในพื้นที่กรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้ เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
อาคารพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงตั้งอยู่ระหว่างอู่หมายเลข ๑ และอู่หมายเลข ๒ เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงรอบอาคารประดับด้วยไม้ฉลุลายที่สวยงาม ตามหลักฐานที่ปรากฏอาคารนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมอู่ทหารเรือได้เริ่มดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติ ฯ จัดแบ่งพื้นที่ตามการนำเสนอออกเป็นส่วนต่าง ๆ โดยเริ่มจาก "ราชนิเวศน์สู่อู่เรือหลวง" เป็นส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ก่อนจะมีการสร้างอู่เรือหลวงขึ้น ต่อเนื่องด้วย "จากอู่เรือหลวงสู่กรมอู่ทหารเรือ" เป็นส่วนอธิบายถึงความสำคัญของงานอู่เรือกับการปกป้องอธิปไตยของชาติทางทะเลและความจำเป็นของการมีอู่เรือขนาดใหญ่ จากนั้นเป็นส่วนจัดแสดง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานนาวิกสถาปัตย์" กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการต่อเรือ การสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ชุดเรือ ต.๙๑ ตามแนวพระราชดำริ และการขยายผลสู่ ชุดเรือ ต.๙๙๑ และชุดเรือ ต.๙๙๔ ลำดับถัดมาคือ "การเสริมสร้างสมุททานุภาพให้กองทัพเรือ" แสดงให้เห็นถึงกระบวนการต่อเรือ วิทยาการ และเทคโนโลยีการต่อเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนการปฏิบัติงานจริงของช่างระหว่างการซ่อมและต่อเรือ จากนั้นเข้าสู่ส่วนจัดแสดง "การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ" นำเสนอการต่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ การอนุรักษ์และซ่อมเรือพระราชพิธี การผสมผสานเทคโนโลยีการต่อเรือของกรมอู่ทหารเรือกับงานช่างศิลป์ของกรมศิลปากร ต่อด้วยการจัดแสดงหัวข้อ "ทำเรือให้พร้อมรบ" เป็นกระบวนการการซ่อมทำเรือรบและผลงานการซ่อมทำเรือที่สำคัญของกรมอู่ทหารเรือ ส่วนสุดท้ายเป็น "อู่เรือและอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ" แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกิจการอู่เรือ อุตสาหกรรมต่อเรือและพาณิชยนาวีของประเทศ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอธิปไตยของชาติทางทะเล
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งแรกของกองทัพเรือและเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาอีกแห่งหนึ่งของประเทศที่บันทึกแห่งกาลเวลาที่สามารถเรียนรู้อดีต พัฒนาปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคตต่อไปในภายหน้า (ที่มา : อร.)