วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ชาวนากับก้อนหิน"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ชาวนากับก้อนหิน"
        มีเรื่องเล่าว่า ขณะที่ชาวนาคนหนึ่งกำลังตัดฟืนอยู่ที่หลังเขา เขาได้พบทางเล็ก ๆ สายหนึ่งโดยบังเอิญ ด้วยความสงสัยเขาจึงได้เดินเลาะไปตามทางนั้น ซึ่งคดเคี้ยวไปมาจนถึงยอดเขา เป็นที่ราบโล่ง ทุ่งหญ้าเขียวขจี มีดอกไม้ป่าบานสะพรั่งอยู่เต็มไปหมด บรรยากาศสงบสงัดและทัศนียภาพงดงามยิ่งนัก เขาเดินต่อไปได้อีกครู่หนึ่งก็พบสระน้ำแห่งหนึ่ง น้ำใสจนสามารถมองเห็นปลาว่ายไปมาได้อย่างชัดเจน ที่ริมสระมีหินหลากสีสันจำนวนมากส่งประกายระยิบระยับ งดงาม ชาวนาคนนั้นเคยได้ยินคนเล่าถึงเรื่องอัญมณี แต่ไม่รู้จริง ๆ ว่าอัญมณีที่ว่านั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เขาคาดคะเนว่า หินที่งดงามเหล่านี้คงจะเป็นอัญมณีเป็นแน่ ในที่สุดก็เลือกเอาหินที่สวยที่สุดก้อนหนึ่งนำกลับบ้าน วันรุ่งขึ้น เขาได้นำหินก้อนนั้นไปให้เจ้าของร้านอัญมณีดู เจ้าของร้านอัญมณีพินิจพิจารณาดูอย่างละเอียดแล้ว บอกเขาว่า "นี่เป็นอัญมณีที่ล้ำค่าหายากชนิดหนึ่ง แกขายให้ฉันก็แล้วกันฉันให้ราคา ๑ หมื่นเหรียญ" ชาวนาได้ยินคำพูดนั้นแล้วตอบว่า "ตอนนี้ฉันยังไม่ขายหรอก พรุ่งนี้เราค่อยคุยกันอีกทีก็แล้วกัน" พอกลับถึงบ้านก็ชักชวนญาติพี่น้องขึ้นเขาไปขนก้อนหินลงมาได้มา ๒ กระสอบใหญ่ แล้วเข้าไปในเมืองด้วยกระหยิ่มใจว่าคราวนี้จะต้องร่ำรวยมหาศาล แต่พอเจ้าของร้านอัญมณีเห็นหินเหล่านั้นกลับยิ้มอย่างเย็นชา พลางบอกกับเขาว่า "หิน ๒ กระสอบใหญ่นี้ ฉันให้ราคา ๑ เหรียญ เอาไหม"
         จากเรื่องเล่านี้ทำให้ได้แง่คิดทางธรรมว่า "สิ่งดีที่มากเกินก็อาจทำให้ดูด้อยค่า" เพราะโดยทั่วไปคนเรามักตัดสินใจให้ค่านิยมเรื่องต่าง ๆ ด้วยองค์ประกอบสำคัญ ๒ ประการ คือ ด้วยเหตุผลและด้วยอารมณ์ ตัวอย่างเช่น อาหารแม้มีสารอาหารครบถ้วนบริบูรณ์ แต่ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ค่อยมีใครอยากรับประทาน ตรงกันข้าม อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการพอประมาณ แต่มีรสชาติอร่อย ผู้คนกลับนิยมชมชอบ เป็นต้นเมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนทั้งหลาย เราจึงต้องคำนึงถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้มาก ๆ เช่นกัน จะคิดแต่เพียงว่าเราเป็นฝ่ายถูก เพียงเท่านั้นไม่ได้ต้องมีศิลปะในการนำเสนอ รู้จังหวะจะโคน รู้กาลเทศะ บางครั้งเรื่องดี ๆ แต่เสนอมากไป พูดมากไป อาจถูกแปลเจตนาผิด หวังดีเลยกลายเป็นประสงค์ร้าย หรือถูกมองเป็นของไร้ค่าไปเหมือนเรื่องชาวนากับก้อนหินนี้ก็เป็นได้ (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)