วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พิธีบวงสรวงและวางพวงมาลาถวายสักการะ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน เนื่องในวันอาภากร ประจำปี ๒๕๕๘

วันนี้ (๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เวลา ๐๘.๑๕ น. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวง พิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ พระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องในวันอาภากร ประจำปี ๒๕๕๘ ณ หน้าอาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมาคมภริยาทหารเรือ องค์กรภาครัฐ เอกชน และราชสกุลอาภากร เข้าร่วมพิธี
         จากนั้น เวลา ๑๐.๒๐ น. พลเรือเอก พจนา เผือกผ่อง รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ณ วิหารน้อย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่กองทัพเรือ ผู้แทนราชสกุลอาภากร ผู้แทนสมาคมภริยาทหารเรือ เข้าร่วมพิธี
          วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ เป็นวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะเหล่าทหารเรือ ซึ่งเทิดทูนยกย่องและขนานพระนามว่า "องค์บิดาของทหารเรือไทย" ทั้งนี้ ด้วยทรงวางรากฐานการทหารเรือให้มีความเข้มแข็งมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้
          พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๒๓ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ เจ้าจอมมารดาโหมด ภายหลังเหตุการณ์รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติ วงศ์ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้มีพระวิริยะอุตสาหะจนผลการศึกษาปรากฏอยู่ในขั้นดีเยี่ยม หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ ด้วยพระปรีชาสามารถในการรับราชการจนปรากฏความชอบ ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นตามลำดับ ในพุทธศักราช ๒๔๔๘ ขณะทรงดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ผู้บัญชาการกรมเรือกลและป้อม และทำการในหน้าที่เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้ทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาและระบบการปกครองของโรงเรียนนายเรือให้ทหาร เรือมีความรู้ความชำนาญ สามารถเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นครูได้เป็นผลสำเร็จ ไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างประเทศเหมือนที่แล้วมา ในพุทธศักราช ๒๔๖๒ ทรงเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการจัดหาเรือพระร่วงไว้ใช้ในราชการ และทรงเป็นผู้บังคับการเรือลำดังกล่าวที่มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นลูก เรือ นำเรือพระร่วงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากประเทศอังกฤษกลับสู่พระนครด้วย พระองค์เอง นับเป็นนายทหารเรือไทยคนแรกที่ได้นำเรือรบเดินทางไกลมาจากต่างประเทศ
         นอกจากพระปรีชาสามารถด้านการทหารเรือแล้ว ทรงมุ่งมั่นศึกษาเกี่ยวกับวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทย ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้โดยมิได้ทรงเลือกชั้นวรรณะเป็นจำนวนมาก จนพระเกียรติคุณในนาม "หมอพร" ขจรขจายไปในทุกชนชั้น อีกทั้งยังทรงเป็นจิตรกรเขียนภาพที่งามวิจิตร ดังปรากฏภาพฝีพระหัตถ์ที่ผนังโบสถ์วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ตรวจจนทุกวันนี้ นอกจากนี้ยังทรงมีพระปรีชาสามารถทางดนตรี โดยได้ทรงพระนิพนธ์เพลงทหารเรือ เช่น เพลง "ฮะเบสสมอ" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "ดอกประดู่" เพลง "เกิดมาทั้งที" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "เดินหน้า" และเพลง "ดาบของชาติ" ซึ่งเพลงเหล่านี้มีเนื้อหาของบทเพลงปลุกใจให้เข้มแข็งในยามทุกข์ ก่อให้เกิดความรู้สึกรักแผ่นดิน รักหน้าที่ รักเกียรติ และเกิดความมุมานะ ยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อชาติ ถือได้ว่าเป็นมรดกที่ฝังแน่นในใจทหารเรือทุกนายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
           กองทัพเรือ ได้กำหนดให้กำลังพลแต่งกายเครื่องแบบหมายเลข ๒ และแถวทหารรับฟังคำประกาศพระเกียรติคุณ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่พระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานการทหารเรือให้มีความเข้มแข็งมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้ (ที่มา : สลก.ทร.)