วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ธรรมะในงาน"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำ บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรมในการ ดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความ ไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ธรรมะในงาน"
        คำว่า งาน ในความหมายที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ "การทำหน้าที่ของชีวิต" ดังจะเห็นได้จากในแต่ละวัน ชีวิตคนเราจะเกี่ยวข้องกับการทำงาน หรืออยู่ในโลกของการทำงานเกือบ ๒๔ ชั่วโมง คนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงเกียรติยศ ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั้งในระดับสังคม ประเทศ หรือระดับโลก ก็ล้วนแต่เกิดจากการทำงานทั้งสิ้น ซึ่งสอดรับกับคำกล่าวที่ว่า "คุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน" ส่วนคำว่า ธรรมะ ในความหมายที่ใกล้ตัว และเกี่ยวเนื่องกับงาน ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ ที่ทุกคนต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกฎธรรมชาติ ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของเขา เพื่อความมีชีวิตอยู่อย่างผาสุก ทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวมหรือทั้งโลก
         ความหมายโดยรวม งานกับธรรมะ ทำหน้าที่คาบเกี่ยวกัน งานก็คือธรรมะ ธรรมะก็คืองาน แต่ถ้าแยกพิจารณา งาน คือ การทำหน้าที่ของชีวิต ซึ่งดำเนินไปตามกลไกหรือกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติ ในขณะที่ธรรมะ เป็นตัวกำกับควบคุมงาน คือ การทำหน้าที่ของชีวิต ให้เป็นไปโดยถูกต้อง สมบูรณ์เรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้การทำงานสัมฤทธิ์ผล เกิดประโยชน์และความสุขมากที่สุด โดยสรุปธรรมะในงาน ก็คือ การทำหน้าที่ของชีวิตให้ถูกต้อง สมบูรณ์ และเกิดสัมฤทธิผลมากที่สุด นั่นเอง
         การทำงานของคนทุกเพศทุกวัยในทุกระดับจะสำคัญหรือไม่ก็ตาม ล้วนนับเนื่องในการทำหน้าที่ของชีวิตทั้งสิ้น เปรียบเสมือนเป็นชิ้นส่วนฟันเฟืองที่จะช่วยกันขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปตาม กลไกธรรมชาติ แต่จะสำเร็จหรือล้มเหลว มีผลดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับว่า ใส่ธรรมะลงไปในงานหรือไม่ ถ้าใส่ธรรมะในงาน ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือยกระดับการทำงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากธรรมะจะช่วยกำกับควบคุมให้การทำงานถูกต้อง สำเร็จ สมบูรณ์แล้ว ยังช่วยคุ้มครองรักษาไม่ให้ผู้ทำงานเกิดทุกข์ โทษ ภัย ไปพร้อมกันอีกด้วย
         เกี่ยวกับเรื่องนี้มีพุทธภาษิตรองรับสนับสนุนว่า "อะธัมโม จะ วินาโส ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจาริง แปลความว่า การทำหน้าที่โดยไม่ถูกต้องนับเป็นความพินาศเอง การทำหน้าที่โดยถูกต้องนั่นแหละย่อมรักษาผู้ทำหน้าที่โดยอัตโนมัติ" และสอดรับกับที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทโคลงไว้ว่า "สุจริตคือ เกราะบัง ศาสตรพ้อง" นั่นเอง (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)