วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ฤทธิ์คำชม"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ฤทธิ์คำชม" ดังนี้
        นักจิตวิทยาท่านหนึ่ง แนะวิธีทำใจให้มีความสุขด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ หาทางยกย่องชมเชยคนให้ได้อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง เหตุเพราะว่า ที่ใดมีคำชม ที่นั่นย่อมมีความสุขทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ผู้รับคำชมเชยย่อมจะรู้สึกภาคภูมิใจที่มีคนมองเห็นความดีของตน จึงพร้อมจะเป็นมิตรกับผู้พูด ฝ่ายผู้ชม ตลอดเวลาที่คิดถึงความดีของคนอื่นเพื่อจะชม ก็ทำให้จิตอ่อนโยน และเมื่อพูดออกไปก็เป็นปิยวาจา ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกดีต่อกันเป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีในที่สุดได้ ในอดีตกาล พระพุทธองค์ก็ทรงยกย่องชมเชยพระสาวกไว้ในเอตทัคคะต่าง ๆ มากมายมีทั้งที่เป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา เช่น ทรงยกย่องชมเชยพระอัญญาโกณฑัญญะว่าเป็นเลิศด้านรัตตัญญู พระสารีบุตรเป็นเลิศด้านมีปัญญา พระอุบลวรรณาเถรี เป็นเลิศด้านมีฤทธิ์ อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นเลิศในฝ่ายทายกและนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นเลิศในฝ่าย ทายิกา เป็นต้น ทำให้พระสาวกมีกำลังใจในการทำความดียิ่งขึ้น และพระสาวกรูปอื่น ๆ ก็ยึดเป็นแบบอย่างต่อไป
        สำหรับหลักในการชมโดยทั่วไปนั้น ท่านให้ชมสิ่งที่เป็นคุณธรรมเป็นหลัก เช่น ชมความอดทน ชมความรับผิดชอบ ชมความกล้าหาญ เป็นต้น เพราะการชมสิ่งดังกล่าวนี้ จะทำให้คนเข้าถึงความดีงามที่สูงขึ้นประณีตขึ้นนั่นเอง ซึ่งต่างจากการชมสิ่งที่เป็นวัตถุธรรม เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ แก้วแหวนเงินทอง เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัจธรรมที่เป็นสากล อีกทั้งยังไม่มีความจีรังยั่งยืน
หากอยากได้ความสุขและมิตรภาพที่ไม่ต้องซื้อหา วิธีการง่าย ๆ ก็คือ หาทางชมคนให้ได้อย่างน้อย วันละ ๑ ครั้ง เพียงเท่านี้ความสุขและมิตรภาพก็พร้อมจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาเพราะคำชมหรือ คำยกย่องสรรเสริญนั้น ถ้าใช้อย่างเหมาะสมถูกกาลเทศะแล้ว ก็เป็นสิ่งที่มีฤทธิ์ ทำให้ผู้ชมและผู้รับคำชมรู้สึกดีต่อกัน เกิดความรักใคร่กลมเกลียวกัน และทำให้ความสัมพันธ์ที่ดี ๆ อีกมากมายเกิดขึ้นได้ (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)