วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมประมง ประกาศปิดอ่าว ๓ เดือน พื้นที่ฝั่งอ่าวไทย ๑๕ กุมภาพันธ์ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ หากพบทำผิดกฎหมายจับกุมทันที

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุมเข้มรับนโยบายรัฐบาลป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งอนุรักษ์ทรัพยากรและเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในอ่าวไทย ประกาศปิดอ่าวไทย ระหว่างวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พร้อมขอความร่วมมือชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมาย หากพบทำผิดกฎหมายจับกุมทันที
        กรมประมง ประกาศปิดอ่าว ๓ เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ของทุกปี บริเวณทะเลอ่าวไทยในเขตท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยาย พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นจะ ต้องดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน
สำหรับเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๐ ได้แก่
          ๑. เครื่องมืออวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล ยกเว้นเครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียวที่ความยาวเรือไม่เกิน ๑๖ เมตร ให้ทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืน (ตั้งแต่เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น)
          ๒. เครื่องมืออวนติดตามที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมงด้วยวิธีล้อมติดปลาทูหรือด้วยวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
          ๓. เครื่องมืออวนติดตามทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง ยกเว้น เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่วางเครื่องกลางลำไม่มีเก๋ง ขนาดความยาวเรือไม่เกิน ๑๔ เมตร หรือการใช้เครื่องมืออวนติดตามที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์เพลาใบจักรยาว และเครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบกับเรือกลและเครื่องมือกว้าน ช่วยในการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดความลึกอวนไม่เกิน ๗๐ ช่องตาอวน ความยาวอวนตั้งแต่ ๔,๐๐๐ เมตร ลงมา ในขณะทำการประมงแต่ละครั้ง ทำการประมงในช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑๕ เมษายน ถึง ๑๕ พฤษภาคม ของทุกปี
         ๔. เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกลทำการประมง
         ๕. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำหนดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงปลากะตัก
         ๖. เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือกลที่มีขนาดความยาวเรือเกินกว่า ๑๔ เมตรขึ้นไป
         หากชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ประกาศปิดอ่าว ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ
          นอกจากนี้ มาตรการปิดอ่าวไทยในปี ๒๕๕๘ ยังเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผ0ลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประกอบด้วย ๖ หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ กรมประมง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมศุลกากร ในการตรวจตราและเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย จากการปิดอ่าวในปีที่ผ่านมา พบว่ามีความชุกชุมของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี และประชาชนมีสัตว์น้ำบริโภคตลอดไป
         จึงขอแจ้งให้ชาวประมงและประชาชนทั่วไปทราบ และขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีประกาศปิดอ่าว ประจำปี ๒๕๕๘ ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ ท่าเทียบเรือเทศบาลตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร (ที่มา : กรมประมง)