วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

พิธีปล่อยเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ชุด เรือ ต.๑๑๑ ลงน้ำ

วันนี้ (๑๓ มีนาคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๓.๓๙ น.พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ชุดเรือ ต.๑๑๑ ลงน้ำ โดย นางอัจฉรา พิพัฒนาศัย ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ ณ อู่ต่อเรือ บริษัทมาร์ซัน จำกัด ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธี
         กองทัพเรือได้ดำเนินโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ จำนวน ๓ ลำ พร้อมระบบสื่อสาร อาวุธ ระบบอื่น ๆ รวมทั้งการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเล อันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย และการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง โดยกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ออกแบบและต่อเรือ ซึ่งเรือทั้ง ๓ ลำ ตั้งชื่อว่า "เรือ ต.๑๑๑", "เรือ ต.๑๑๒" และ "เรือ ต.๑๑๓"
          ลักษณะของเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือมีความยาวตลอดลำ ๓๖ เมตร, ความกว้างกลางลำ ๗.๖๐ เมตร, ความลึกกลางน้ำ (Molded Depth) ๓.๖๐ เมตร, เรือกินน้ำลึกเต็มที่ไม่เกิน (Molded Draught) ๑.๗๐ เมตร, ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่น้อยกว่า ๓๖,๐๐๐ ลิตร, ความจุถังน้ำจืด ไม่น้อยกว่า ๕,๖๐๐ ลิตร, มีถังน้ำจืดสำรองความจุ ไม่น้อยกว่า ๘,๐๐๐ ลิตร และมีระวางขับน้ำเต็มที่ ประมาณ ๑๕๐ ตัน
          ขีดความสามารถทั่วไปของเรือดังกล่าวมีความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ ระวางขับน้ำเต็มที่ ไม่ต่ำกว่า ๒๗ นอต, ระยะปฏิบัติการที่ความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ ๑๕ นอต ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ไมล์ทะเล, สามารถปฏิบัติการ ในสภาวะทะเลได้ถึง Sea State 5 (ความสูงคลื่น ๒.๕ - ๔ เมตร), สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน, ปฏิบัติการทางเรือได้อย่างต่อเนื่องในทะเลได้ไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน และสามารถตรวจจับ ติดตาม และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ ได้ด้วยระบบตรวจการณ์ของเรือ นอกจากนี้ สามารถ หยุดยั้ง ขัดขวาง เรือผิวน้ำ และป้องกันตนเองจากข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ, ตรวจสอบเรือต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมและคุ้มครองเรือประมงและทรัพยากรธรรมชาติ, เข้าถึงพื้นที่ปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว
          เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ นอกจากจะมีขีดความสามารถทั่วไปแล้ว ยังมีขีดความสามารถในการสนับสนุนการขนส่งทางธุรการชุดปฏิบัติการพิเศษ พร้อมเรือยางท้องไฟเบอร์กลาสความเร็วสูง (RIB) อย่างน้อย ๑ ชุด ปฏิบัติการพิเศษ, ลำเลียงอุปกรณ์สนับสนุนหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตามพื้นที่ชายฝั่งและเกาะต่าง ๆ ลำเลียงอุปกรณ์ปรับความดันบรรยากาศของกองทัพเรือ สนับสนุนการปฏิบัติการด้านการแพทย์ให้กับกองเรือในทะเลตามขีดความสามารถของเรือ และสามารถบรรทุกและรองรับตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐาน ขนาด ๒๐ ฟุต จำนวน ๒ ตู้ พร้อมกับบรรทุกถังน้ำมันแบบยางขนาด ๕๐๐ แกลลอน จำนวน ๑ ถัง (ที่มา : สยป.ทร.)