วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ทัพเรือภาคที่ ๑ ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือ ๕๗ ระหว่าง ๑๒ - ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗

กองทัพเรือ โดย ทัพเรือภาคที่ ๑ ทำการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือ ๕๗ ระหว่าง ๑๒ - ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ตามโครงสร้างและแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือในปัจจุบัน โดยใช้แผน/คำสั่งยุทธการที่ใช้ในการฝึก โดยเน้นการปฏิบัติทางด้านทิศใต้ ทำการฝึกใน ๓ ระดับ คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ, ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาค และหน่วยรองทัพเรือภาค
          การฝึกกองทัพเรือเป็นการฝึกที่สำคัญและทำการฝึกเป็นประจำทุกปี เป็นการฝึกภายในประเทศของหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือจาก ส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา รวม ๒๑ หน่วย สำหรับการฝึกในปีนี้เป็นการฝึกในลักษณะบูรณาการด้วยการนำการปฏิบัติการทาง ทหาร การปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ ของส่วนกำลังรบ การปฏิบัติการและการสนับสนุนของส่วนอื่น ๆ มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์เดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างวันที่ ๓ มีนาคม ถึง ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ พื้นที่ฝึกบริเวณที่ตั้งหน่วย พื้นที่ปฏิบัติการ และพื้นที่ฝึกของกองทัพเรือ มี พลเรือเอก จักรชัย ภู่เจริญยศ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น ผู้อำนวยการฝึกฯ
          วัตถุประสงค์หลักของการฝึก เพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหารของหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามแผนป้องกันประเทศ และเพื่อทดสอบการอำนวยการยุทธ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และศูนย์บัญชาการทางทหารระดับต่าง ๆ ของกองทัพเรือ ตามโครงสร้างและแนวทางใช้กำลังของกองทัพเรือในปัจจุบัน โดยทำการฝึกในลักษณะ "รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น" คือ หน่วยจะต้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ใดในสถานการณ์จริงให้ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ นั้นในสถานการณ์ฝึก ทั้งนี้ ได้นำปัญหา อุปสรรค ขัดข้องและข้อเสนอแนะของการฝึกกองทัพเรือในปี ๒๕๕๖ มาพิจารณาให้สอดคล้องตามแผนการปฏิบัติงานของหน่วย
           การฝึกครั้งนี้จะทำการฝึกในลักษณะที่ไม่มีแผนยุทธการไว้รองรับ ด้วยการสมมติเหตุการณ์ให้มีภัยคุกคาม หน่วยรับการฝึกจะปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการวางแผนเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (Crisis Action Planning : CAP) จนได้เป็นคำสั่งยุทธการในชื่อ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับกองทัพเรือ" และ "คำสั่งพิทักษ์น้ำเงิน ๕๗ ระดับทัพเรือภาคที่ ๑ - ๓" ซึ่งจะนำไปใช้ทดสอบการควบคุมบังคับบัญชาและการอำนวยการยุทธ์ตามโครงสร้าง จริง รวมทั้งทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติต่าง ๆ ตลอดจนทดสอบขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและหรือจัดทำหลักปฏิบัติเพิ่ม เติม มีขอบเขตการฝึกทั้งในด้านการส่งกำลัง การซ่อมบำรุง การขนส่ง และการบริการทางการแพทย์ โดยมีขั้นตอนการฝึกแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการฝึกได้ดำเนินการ ขั้นการฝึก ประกอบด้วย การอบรมในห้องเรียน, การฝึกปัญหาที่บังคับการ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ มีนาคม, การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม - ๒ พฤษภาคม และขั้นการสัมมนาสรุปผลการฝึก ระหว่าง๑๔ - ๒๑ พฤษภาคม (ที่มา : ทรภ.๑)