วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บุญทำได้แม้ไม่ใช้สตางค์กับ "บุญกิริยาวัตถุ ๑๐"

 การทำบุญทำทานในยุคนี้ มีการเข้าวัดทำสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา การทำบุญไถ่ชีวิตโคกระบือ การทำบุญเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า - คนชรา ณ สถานสงเคราะห์ รวมไปถึงการสะเดาะเคราะห์ด้วยการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผ่านพิธีกรรมในรูปแบบ ต่าง ๆ ทั้งที่บุญนั้นมีหลายระดับและหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเฉพาะการให้ทานเท่านั้น วันนี้ขอนำเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (การทำบุญสิบรูปแบบ) มาฝากกัน เพื่อให้การทำบุญได้หลากหลายโดยไม่ต้องใช้สตางค์ ดังนี้
          ๑. บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน (ทานมัย) ต้องคำนึงถึงคือ จิตใจก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ โดยสิ่งที่นำมาเป็นทานนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมยคดโกงมา
          ๒. บุญสำเร็จด้วยการถือศีล (ศีลมัย) การรักษาศีล หมายความถึงการมีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีล หากไม่มีเจตนา เพียงแต่ไม่มีโอกาสทำผิดศีลก็ไม่ถือว่ามีศีล
          ๓. บุญสำเร็จด้วยการภาวนา (ภาวนามัย) ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การอบรมจิต หรือพัฒนาจิตให้มีคุณภาพสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา คือ การทำใจให้สงบ หรือวิปัสสนาภาวนา คือ การทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงจนตัดกิเลสได้หมด
          ๔. บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อมน้อม (อปจจายนมัย) การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะจิตไม่แข็งกระด้าง แต่ต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ได้แก่ คนที่อายุมากกว่าเรา คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา และคนที่มีคุณธรรมสูงกว่าเรา
          ๕. บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น (เวยยาวัจจมัย) ช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือต่อส่วนรวม อาทิ ช่วยเหลือคนเจ็บป่วย แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย หรือชี้ทางให้แก่คนหลงทางก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัยทั้งสิ้น
          ๖. บุญสำเร็จด้วยการเฉลี่ยส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) - เมื่อทำบุญอันใดแล้วก็อุทิศส่วนบุญนั้นแก่ผู้มีพระคุณ หรือแก่ผู้อื่น สัตว์อื่น จะทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้น เป็นการแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จะทำโดยการอุทิศส่วนกุศลแก่คนที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบอกเล่าให้คนรอบตัวได้อนุโมทนาบุญไปด้วยก็ได้
          ๗. บุญสำเร็จด้วยการยินดีในบุญของผู้อื่น (ปัตตานุโมทนามัย) เมื่อได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นผู้อื่นทำบุญ ทำความดีก็พลอยปลื้มใจยินดีในบุญที่เขากระทำด้วยจิตอันบริสุทธิ์ เท่านี้ก็เป็นบุญแล้ว
          ๘. บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) การฟังธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปฟังพระเทศน์เท่านั้น แต่การอ่านหนังสือ ฟังเทป ดูโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องธรรมะ เพราะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เนื่องจากผู้ที่เป็นสาวกนั้นจำเป็นจะต้องฟังธรรม มิฉะนั้นจะไม่มีทางเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าและบรรลุมรรคผลได้
          ๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) การแสดงธรรมจัดเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกว่าธรรมทาน เป็นทานที่มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง" บุญอันเกิดจากการแสดงธรรมนั้น ไม่ใช่การพูดอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือธรรมะ การพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือการให้ทุนในการพิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแพร่ก็จัดเข้าในบุญข้อนี้ทั้งสิ้น
          ๑๐. บุญสำเร็จด้วยการปรับความเห็นให้ตรง (ทิฎฐุชุกัมม์) ได้แก่ การเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แม้ผู้นั้นยังไม่ทำดีด้วยกาย หรือว่าไม่ทำดีด้วยกาย หรือวาจา เป็นเพียงแต่เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น ก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครอบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคนเราเห็นถูกเห็นตรงเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่นๆ ด้วยความสนิทใจและตั้งใจทำ
            จะเห็นได้ว่าการทำบุญในพระพุทธศาสนาเลือกปฏิบัติได้หลากหลาย สามารถทำได้ตามกำลังและความสามารถของตน แม้คนยากจนไม่มีเงินทองก็สามารถทำบุญได้ หากผู้นั้นตั้งใจจริง เพราะบุญไม่ใช่เพียงให้ทานอย่างเดียว ยังมีอีกถึง ๙ ข้อที่ไม่ต้องใช้เงินทอง และมีอยู่หลายอย่างที่มีผลมากกว่าการให้ทาน นอกจากนี้บุญทุกประเภทจะนำมาซึ่งความสุข ความสงบ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ. บุคคลพึงทำบุญทั้งหลายไว้เถิด ซึ่งจะนำสุขมาให้" (ที่มา : www.larndham.net)