วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2554

๒๒ ธันวาคม วันคล้ายวันสถาปนากองเรือทุ่นระเบิด

๒๒ ธันวาคม วันคล้ายวันสถาปนากองเรือทุ่นระเบิด จัดบำเพ็ญสาธารณประโยชน์และมอบรางวัล "พ่อตัวอย่าง" ให้แก่กำลังพลที่ได้รับคัดเลือก
         วันนี้ (๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๔) กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ จัดกำลังพลไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ณ วัดภาวนาราม ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองเรือทุ่นระเบิด ประจำปี ๒๕๕๔ ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบพระอุโบสถ ศาลาปฏิบัติธรรม พื้นที่อื่น ๆ ภายในวัด ตัดหญ้า และจัดเก็บขยะมูลฝอยภายในวัด
และในวันที่ ๒๒ ธันวาคม จะประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กำลังพลของหน่วยและมอบรางวัล "พ่อตัวอย่าง" ให้แก่ข้าราชการที่ได้รับคัดเลือก รวม ๓ รางวัล ประกอบด้วย พ่อตัวอย่างด้านครอบครัว พ่อตัวอย่างด้านสังคม และพ่อตัวอย่างด้านศีลธรรม โดยมี พลเรือตรี ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด เป็นประธานในพิธี ฯ
กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ถือเอาวันที่ ๒๒ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากองเรือทุ่นระเบิด สืบเนื่องจากปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ กรมทหารเรือ กำหนดให้มีกองทุ่นระเบิดขึ้นตรงกับกองบัญชาการเรือและป้อม มีหน้าที่ในการจัดหาทุ่นระเบิดและวางสายทุ่นระเบิด ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐ ฯ ได้ส่งเรือดำน้ำเข้ามาวางทุ่นระเบิดบริเวณเกาะริ้น เกาะสีชัง และเกาะคราม เป็นเหตุให้เรือซิดนีย์มารูของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในเวลานั้นถูกทุ่นระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนักไม่สามารถเดินเรือต่อไปได้ ทำให้บรรดาเรือสินค้าและเรือประมงไม่กล้าออกทะเลในช่วงเวลาดังกล่าว ทัพเรือ (หน่วยสนามของราชนาวีในขณะนั้น) จึงได้ลงคำสั่งยุทธการให้ เรือหลวงจวง (ลำเก่า) ร่วมกับเรือประมงจำนวนหนึ่งเป็นหมู่เรือกวาดทุ่นระเบิดออกปฏิบัติการระหว่างวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๕ ถึงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๘๖ นับเป็นการปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดครั้งแรกที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน โดยการกวาดทุ่นระเบิดในครั้งนั้นกระทำโดยใช้แท่งแม่เหล็กถาวรลากด้วยสายลวดยาว ๒๐๐ เมตร ถือว่าได้ผลพอสมควร ไม่ปรากฏว่าเรือของฝ่ายเราโดยทุ่นระเบิดอีกเลย
ในอดีตมีการบันทึกไว้ว่า หมู่เรือกวาดทุ่นระเบิดของทัพเรือนั้น นอกจากจะทำการกวาดทุ่นระเบิดในทะเลแล้ว ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศพันธมิตรได้นำเครื่องบินมาวางทุ่นระเบิดในแม่น้ำเจ้าพระยา ทัพเรือจึงได้ลงคำสั่งจัดตั้งกองกวาดทุ่นระเบิดในแม่น้ำขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๗ โดยมีภารกิจการกวาดทุ่นระเบิดในแม่น้ำ ต่อมาในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ ทัพเรือได้ยกเลิกกองกวาดทุ่นระเบิดในแม่น้ำและได้ตั้งกองกวาดทุ่นระเบิดแม่เหล็กขึ้นมาใหม่ โดยเพิ่มงานการวางเครื่องหมายทางเรือ และจัดยามคอยเหตุ รวมทั้งทำการกวาดทุ่นระเบิดนำหน้าเรือหลวงเวลาแล่นออกทะเล จากบทเรียนในการกวาดทุ่นระเบิดครั้งแรกนั้น กองทัพเรือมีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีในการปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด ทำให้เราไม่สามารถเปิดเส้นทางเดินเรือได้อย่างรวดเร็วในเวลาที่ต้องการ กองทัพเรือจึงได้พยายามเสริมสร้างกำลังรบด้านนี้มาโดยตลอด ต่อมาในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ชื่อของ กองเรือทุ่นระเบิด ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกเมื่อมีการย้ายกองเรือต่าง ๆ จากกรุงเทพ ฯ ไปรวมอยู่ที่สัตหีบในชื่อใหม่ว่า "กองเรือยุทธการ"
ปัจจุบันกองเรือทุ่นระเบิดจะดำรงความพร้อมในด้านสงครามทุ่นระเบิดและจะไม่หยุดที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกำลังทางด้านสงครามทุ่นระเบิดให้พร้อมที่จะเผชิญต่อภัยคุกคามที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากทุ่นระเบิดได้ทันที ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจให้สมบูรณ์ ดังคำขวัญที่ว่า "ทำศึกทุ่นระเบิด เปิดวิถีนาวา ขวางมรรคาไพรี" (ที่มา : กทบ.กร.)