วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้

โรคเบาหวาน อดีตเป็นโรคที่เรื้อรัง เนื่องจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติเวลารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็ก ๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์ คือ ฮอร์โมนอินสูลิน (Insulin) ที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน แต่ปัจจุบันเป็นเพียงโรคประจำตัวที่เมื่อผู้เป็นเบาหวานสามารถจัดการตนเอง ให้ควบคุมระดับน้ำตาลที่ใกล้เคียงปกติ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
         ในผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินสูลินหรืออินสูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ "โรคเบาหวาน" กล่าวคือ ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ และหากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะสลายไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล สารที่ได้เรียกว่า "กรดคีโตน" ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก และอาจทำให้ระบบการหายใจล้มเหลวได้
         อย่างไรก็ดี ชนิดของ เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น มีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เบาหวานชนิดที่ ๑ (Type 1 DM) พบได้ประมาณ ร้อยละ ๗๐ - ๘๐ ของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น อายุน้อยกว่า ๑๕ ปี เบาหวานชนิดที่ ๑ ในประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดมี ประมาณร้อยละ ๓ ของผู้ป่วยเบาหวานทั่วประเทศ มีสาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำ หน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ (ร่างกายขาดอินซูลิน) เมื่อแรกพบผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด
          สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลาย ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่า เกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น การรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าผิวหนัง วันละ ๒ - ๔ ครั้ง และจัดการอาหารในแต่ละมื้อให้สมดุลกับยาฉีดอินซูลิน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดและยังไม่พบวิธีที่จะป้องกัน แพทย์และนักวิจัยต่างพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ ๑ และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป
          เมื่อใดควรมาพบแพทย์ เป็นคำถามที่ดี ถ้าบุตรหลานของท่านมีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ กินจุ ผอมลง ปัสสาวะมีมดตอม เป็นแผลหายช้า ติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน หรือมีปื้นดำที่คอ ควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
        ลองสังเกตดูว่า บุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคต (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์)