วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรมประมงเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำเฝ้าระวังสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด หวั่นได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยหมดช่วง ฤดูฝน รวมทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกในปี พุทธศักราช ๒๕๕๗ มีปริมาณน้อยส่งผลกระทบให้เกิดภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิของอากาศและน้ำเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้นโดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน มกราคม - เดือนพฤษภาคมของทุกปี ส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง แหล่งน้ำธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ประกอบกับปริมาณของสารเคมีและสารแขวนลอยในแหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณเข้มข้น ขึ้น ทำให้สภาวะสิ่งแวดล้อมของน้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันอันจะส่งผลกระทบต่อ สุขภาพของสัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงได้
ในส่วนของกรมประมงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ รวมทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
        เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการป้องกันด้วยวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง
       ๑. จัดทำร่มเงาเพื่อลดปริมาณความร้อนของแสงแดดบริเวณกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ
       ๒. ลดปริมาณการให้อาหารลง 10 - 20 %
       ๓. เพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แก่ปลาในกระชัง โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำลงในกระชังเลี้ยงปลา หรือเดินท่อเติมอากาศให้กับปลาที่เลี้ยงในกระชังโดยตรง
       ๔. คัดเลือกสัตว์น้ำที่ได้ขนาดออกจำหน่าย เพื่อลดปริมาณความหนาแน่นของสัตว์น้ำในกระชัง
       ๕. ไม่ควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชังหนาแน่นเกินไป
       ๖. ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยลูกพันธ์สัตว์น้ำชุดใหม่ลงเลี้ยงหรือจำกัดปริมาณการ เลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม เพื่อดำเนินการพักซ่อมแซมกระชังและลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิด ขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำมีน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
       ๗. จัดแนวการเรียงตัวของกระชังให้แต่ละกระชังมีกระแสน้ำไหลผ่านมากที่สุด เพื่อให้ของเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำมีการถ่ายเทอย่างสะดวก
       ๙. ตรวจตราให้ความสนใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงที
        กรณีเกิดอาการผิดปกติของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
        สำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน
          ๑. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมคันบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำและจัดทำร่มเงาให้กับสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง
          ๒. จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม
          ๓. ลดปริมาณให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย
          ๔. คัดสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง
          ๕. เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยใช้เครื่องสูบน้ำจากก้นบ่อพ่นให้สัมผัสกับอากาศ แล้วไหลคืนลงบ่อหรือเดินท่อเติมอากาศลงน้ำโดยตรงเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับ ปลาที่เลี้ยงในบ่อ
          ๖. ปรับสภาพดินและคุณสมบัติของน้ำ เช่น น้ำลึก 1 เมตร ใส่ปูนขาว 50 กก./ไร่ ถ้าบ่อมีตะไคร่น้ำหรือแก๊สมากเกินไป ควรใส่เกลือ 50 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพผิวดินให้ดีขึ้น
         ๗. ตรวจสอบคุณสมบัติของน้ำจากภายนอกที่จะสูบเข้าบ่อเลี้ยง เช่น หากพบว่ามีตะกอนและแร่ธาตุต่างๆ เข้มข้น ควรงดการสูบน้ำเข้าบ่อ
         ๘. ควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณที่หนาแน่นน้อยกว่าปกติ และควรปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
         ๙. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำถ้าจำเป็นควรระมัดระวังให้มาก เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
         ๑๐. ควรมีการวางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงฤดูแล้ง หากมีแหล่งน้ำสำรองน้อยให้จำกัดปริมาณการเลี้ยง และเตรียมทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งเพื่อเตรียมไว้เลี้ยง สัตว์น้ำในรอบต่อไป
         ๑๑. ตรวจตราให้ความสนใสสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงที กรณีเกิดอาการผิดปกติของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม
         ๑๒. ถ้าพบปลาในบ่อเลี้ยงหรือในกระชังป่วยหรือตายควรตักออกแล้วนำไปฝังกลบหรือเผาทำลาย ถ้าพบปลาตายเป็นจำนวนมากผิดปกติ ให้รีบแจ้งสำนักงานประมงใกล้บ้านท่านให้ทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขหรือความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยเคร่งครัด (ที่มา : กรมประมง)