วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "คนละเรื่องเดียวกัน"

 กองอนุ ศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "คนละเรื่องเดียวกัน" ดังนี้
         สังคมสมัยก่อนในตอนเช้า เรามักจะเห็นภาพคุณลุงคุณป้าจะชอบไปนั่งจิบกาแฟกับปาท่องโก๋แถว ๆ ร้านกาแฟหน้าปากซอยอยู่เสมอ เราเรียกชุมนุมย่อย ๆ นี้ว่า "สภากาแฟ" กาแฟโบราณนั้นมีเอกลักษณะอยู่อย่างหนึ่งคือจะใส่นมข้นหวานไว้ด้านล่าง แล้วเทน้ำกาแฟลงไปด้านบน ถ้าใครชอบหวานมากก็ชงนมด้านล่างให้ผสมกับเนื้อกาแฟ สำหรับคนที่ชอบหวานน้อยก็อาจจะดื่มโดยที่ไม่ต้องคนเลยเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า วันหนึ่ง คุณลุงคนหนึ่งก็ไปนั่งจิบกาแฟที่สภากาแฟ พอดีหลานสาวเจ้าของร้านอยู่ในช่วงปิดเทอมจึงมาช่วยยายขายกาแฟ พอหลานยกกาแฟมาส่งให้ที่โต๊ะ คุณลุงก็พูดขึ้นว่า "นมน้อยจัง" หลานสาวเกิดอาการเขินอาย ตอบกลับไปด้วยเสียงเบา ๆ ว่า "เพิ่งขึ้นค่ะ" ยายได้ยินดังนั้นก็ทุบโต๊ะดังปัง แล้วตะโกนสวนไปว่า "เพิ่งขึ้นที่ไหนกัน ขึ้นมาตั้งสองเดือนแล้ว"
        สรุปว่า ลุงพูดถึงนมในแก้วกาแฟ หลานสาวพูดถึงหน้าอกของตัวเอง ส่วนยายหมายถึงราคานมที่ปรับราคาขึ้น เรื่องนี้แม้จะเป็นเสพียงเรื่องตลกขบขันที่เล่าต่อ ๆ กันมา แต่ในความตลกขบขันนั้น ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะได้แง่คิดทางธรรมว่า คนเราอาจพูดกันคนละเรื่องทั้ง ๆ ที่คิดว่ากำลังพูดเรื่องเดียวกันเข้าทำนองว่า คนละมุมมอง คนละข้อคิดเห็น คนละประเด็นข้อสังเกต แต่เรื่องเดียวกัน ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอาจเกิดจากสภาวะจิตที่ถูกปรุงแต่งขณะนั้น เช่น คนหนึ่งกำลังพิจารณากาแฟในแก้ว อีกคนหนึ่งกำลังกังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของตนเอง และอีกคนหนึ่งกำลังกังวลเรื่องกำไรขาดทุน
       ดังนั้น ความเข้าใจผิดจึงเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้แม้จะกำลังพูดภาษาเดียวกัน นั่งพูดกันตัวต่อตัว และไม่มีใครมีเจตนาบิดเบือนข้อมูล เรื่องดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจกันผิด เกิดขึ้นได้ง่ายเพียงใด และหากเกิดความเข้าใจผิดในเรื่องที่สำคัญ ความเสียหายก็จะมีมากตามไปด้วย การสื่อสารในองค์กรก็เช่นเดียวกัน หากขาดความระมัดระวัง ไม่ใช้สติกำกับในเรื่องที่คิด ในกิจที่กำลังทำ และในคำที่กำลังจะพูด เราก็จะประสบกับเรื่องราวในลักษณะ "คนละเรื่องเดียวกัน" ได้อย่างแน่นอน (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)