วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ผิดกับถูก"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ผิดกับถูก"
        มีเรื่องเล่าว่า ในสำนักของอาจารย์ท่านหนึ่ง มีผู้สมัครเข้ามาเป็นศิษย์จากทุกสารทิศจำนวนมาก คราวหนึ่งศิษย์คนหนึ่งโดนจับได้ด้วยข้อหาลักทรัพย์ศิษย์คนอื่น ๆ รายงานให้อาจารย์ทราบ พร้อมเสนอให้ลงโทษขับออกจากสำนัก แต่อาจารย์เฉยเสีย ต่อมาศิษย์ผู้นั้นโดนจับได้ด้วยความผิดเช่นเดิมอีก อาจารย์ก็ยังคงเฉยอยู่เหมือนเดิม
         เหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้ศิษย์คนอื่น ๆ ไม่พอใจ จึงยื่นข้อเสนอให้อาจารย์ขับเจ้าหัวขโมยคนนั้นออกไป หาไม่แล้วพวกเขาจะพากันลาออกไปทั้งหมด เมื่ออ่านข้อเสนอแล้ว อาจารย์จึงเรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด พลางกล่าวว่า พวกเธอเป็นคนฉลาด รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก พวกเธอจะไปเรียนที่ไหนก็ไปเถิด แต่ศิษย์ผู้น่าสงสารนี้ ไม่รู้แม้กระทั่งอะไรผิดอะไรถูก ถ้าฉันไม่สอนเขา แล้วใครเล่าจะสอน ฉันต้องให้เขาอยู่ที่นี่ แม้พวกเธอทั้งหมดจะจากฉันไปก็ตาม น้ำตาอาบแก้มศิษย์ขี้ขโมย เขาตัดสินใจเลิกขโมยตั้งแต่นั้นมา
         คำว่า "ผิดกับถูก" ๒ คำ ในเรื่องเล่าข้างต้นเป็นคำที่ไม่สลับซับซ้อนอะไร เข้าใจได้ง่าย แต่ให้ผลตรงข้ามกันเสมอ กล่าวคือ ผิดให้ผลเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนกระวนกระวาย บางครั้งถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ ส่วนถูกให้ผลเป็นความสุข ความเจริญ ร่าเริงแจ่มใส ฉะนั้น ผิดกับถูกนี้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องระมัดระวังอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องที่คิด ในกิจที่ทำ และในคำที่พูด
         จากเรื่องนี้ในแง่ของหลักธรรมทำให้เห็นความเมตตาของผู้เป็นอาจารย์ ที่ให้โอกาสศิษย์เสมอ และเห็นการกลับตัวกลับใจของศิษย์ รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักแยกแยะ และที่สำคัญได้รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เมื่อทราบเช่นนี้แล้วหากเรากำลังหลงเดินทางผิด จะไม่ลองกลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี เหมือนเจ้าศิษย์หัวขโมยนี้บ้างหรือ ความผิดอันให้ผลเป็นความทุกข์ก็จะลดน้อยถอยลงจนไม่เหลืออีกเลย (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)