วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "สุขใจเมื่อใจพอ"

 กองอนุ ศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "สุขใจเมื่อใจพอ"
         เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของคนเรา ล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องการแสวงหาปัจจัย ๔ ในการดำรงชีพ ทั้ง ๆ ที่ไม่น่าจะมีปัญหา ในการแสวงหาปัจจัยที่จำเป็นพื้นฐานของชีวิต คนจำนวนไม่น้อย แม้จะทราบถึงความสำคัญของปัจจัยเครื่องดำเนินชีวิตว่า ถ้าได้เพียงปัจจัย ๔ คือ มีอาหารอย่างเพียงพอ มีเสื้อผ้าสวมใส่ตามวัฒนธรรม ประเพณี มียารักษาโรคตามระบบประกันสุขภาพ และมีบ้านอยู่อาศัย ก็น่าจะเพียงพอแล้ว หากพิจารณาตามความเป็นจริง ปัจจัยที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของคนเรา ก็ไม่เกินไปจากปัจจัย ๔ มากนัก เพราะปัจจัย ๔ โดยเนื้อแท้ในตัวของมันเอง ก็พอที่จะทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปได้อย่างราบรื่น บรรลุถึงเป้าหมายของกาดรำรงชีพได้เช่นกัน
        สังคมปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าด้านวัตถุเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้เป้าหมายการใช้ชีวิตของคนส่วนมาก ไปผูกโยงอยู่กับวัตถุมากเกินไป โดยมีความเข้าใจว่ายิ่งได้วัตถุมาบำรุงบำเรอตนมากไปเท่าไร ก็จะมีความสุขมากเท่านั้น จึงมีปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ เกิดการแสวงหาเพือ่ให้ได้วัตถุมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยลืมคิดไปว่า แท้จริงแล้ว ความยากได้ของส่วนเกินต่างหากที่เป็นปัญหา จึงเกิดการแสวงหาทางลัด แบบไม่ถูกต้อง ทุกจริต คดโกง
        มนุษย์แม้จะได้วัตถุมามากเพียงใด ก็ไม่อาจสนองความอยากความต้องการของตนได้หมดสิ้น พุทธศาสนาสอนจึงว่า "หากว่ามนุษย์ได้ทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ปรารถนาแล้ว ห้องจักรวาลนี้ก็ยังคับแคบ เมื่ออยากได้อะไรก็อย่าไปอยากมากเกินไป เพราะเมื่อไม่ได้จะเป็นทุกข์เมื่อพยายามแล้วไม่สมหวังก็หัดปล่อยวางอารมณ์ นั้นบ้าง ฝึกหัดใจให้รู้จักปล่อยวาง สร้างภูมิคุ้มกันจิต ยึดหลักสันโดษที่ว่า พอใจตามมี ยินดีตามได้ สุขใจตามกำลังของตน" เป็นต้น เพียงเท่านี้ชีวิตก็จะมีความสุขเข้าลักษณะที่ว่าสุขได้เมื่อใจพอ สมดังคติธรรมคำสอนที่นักปราชญ์ประพันธ์ไว้ว่า

สันโดษนี้ดีนักรู้หักห้าม ย่อมได้ความสุขามาเสวย
ใช้ตามได้ตามมีที่เราเคย สุขเสบยจริงหนอรู้พอดี
ไม่จำกัดปัจจัยเที่ยวไขว่คว้า แสวงหาอื่นหมายได้สุขี
มิพอใจใช้กินมิยินดี ที่ตัวมีทุกข์มากลำบากครัน
(ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)