วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง สามัคคีคือพลัง

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรมในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "สามัคคีคือพลัง" เป็นคุณธรรมที่หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน การร่วมมือร่วมใจกัน
         ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องแคว้นวัชชีเมืองไพสาลี ซึ่งมีเจ้าลิจฉวีปกครองว่าเมืองนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แม้จะมีเมืองอื่นยกทัพมาตีหลายครั้ง ก็ไม่สามารถเอาชนะเจ้าลิจฉวีได้เลย เพราะเหตุที่เจ้าลิจฉวีมีระบบการปกครองที่เรียกว่า สามัคคีธรรม จึงทำให้เมืองไพสาลีมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุขสืบเนื่องเรื่อยมา ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ส่งวัสสการพราหมณ์เข้าไปยุยงให้พวกเจ้าลิจฉวีเกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนแตกความสามัคคี ทำให้สามารถตีเมืองไพสาลีแตกได้โดยง่าย เพราะไม่มีเจ้าลิจฉวีแม้แต่องค์เดียวที่ออกมาสู้รบปกป้องเมือง เป็นเหตุให้เสียอิสรภาพในที่สุด
          เป็นที่ทราบกันดีว่าความสามัคคีเป็นคุณธรรมที่หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน การร่วมมือร่วมใจกันกระทำกิจที่ชอบอย่างใดอย่างหนึ่งให้แล้วเสร็จ แต่ถ้าเป็นการร่วมมือกันกระทำกิจที่เป็นเรื่องความเสียหายมักเรียกว่า การสุมหัว เช่น สุมหัวกันกินเหล้า สุมหัวกันปล้น เป็นต้น สังคมใดมีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน สังคมนั้นย่อมบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขร่มเย็นดังเช่นสังคมของเจ้าลิจฉวี เป็นต้น
          หลักธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคีก็คือ หลักอปริหานิยธรรม ซึ่งแปลว่า หลักปฏิบัติที่ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อม ๗ ประการ กล่าวคือ
            ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เพื่อกระทำกิจการงานของส่วนรวมให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
            ๒. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจที่ควรกระทำ
             ๓. ไม่กระทำในสิ่งที่ผู้นำไม่ได้สั่ง ไม่ละเลยในสิ่งที่ผู้นำให้กระทำ ตระหนักในคำสั่งอยู่เสมอ
             ๔. เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
             ๕. ไม่ข่มเหงรังแกผู้ที่ด้อยกว่า หรือไม่ทำอะไรตามใจอยากของตนเอง
              ๖. ยินดีภูมิใจในสิทธิของตนด้วยความสันโดษ ไม่ละเมิดสิทธิความเชื่อของผู้อื่น
              ๗. ยกย่องและสนับสนุนให้คนดีมีความสามารถได้ปกครองบ้านเมือง
           อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของหมู่คณะโดยส่วนรวม และเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของสังคมโดยแท้ เพราะเป็นธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีแก่หมู่คณะตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี = ความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะ นำสุขมาให้ นั่นเอง
(ที่มา : ยศ.ทร.)