วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ณ อนุสรณ์ เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ

 วันนี้ (๑๗ มกราคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๑.๓๕ น. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ณ อนุสรณ์ เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยในช่วงเช้าผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย คุณอัจฉรา พิพัฒนาศัย นายกสมาคมภริยาทหารเรือ ถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ พิธีบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้แก่ดวงวิญญาณวีรชนในห้องโถงนายพล เรือหลวงธนบุรี และประกอบพิธีวางพวงมาลาบนเรือหลวงธนบุรี
         กองทัพเรือจัดพิธีสดุดีวีรชนกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของบรรพชนทหารเรือที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตในสมรภูมิการรบอย่างองอาจแกล้วกล้าในหลายเหตุการณ์ ทั้งในทะเลและในแม่น้ำ ตลอดจนบนเทือกเขาสูงชันกลางป่าทึบ เพื่อธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติและความสุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย นับเป็นประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือที่ได้จารึกวีรกรรมเหล่านั้นไว้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔ ซึ่งกองเรือของฝรั่งเศสที่มีเรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์เป็นเรือธง พร้อมเรืออื่น ๆ อีก ๖ ลำ ได้ล่วงล้ำเข้ามาในน่านน้ำไทยบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อที่จะโจมตีหัวเมืองชายทะเลของไทย กำลังฝ่ายเราซึ่งประกอบด้วยเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาโท หลวงพร้อมวีรพันธุ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี จึงเข้าทำการต่อตีเพื่อสกัดกั้นกองเรือข้าศึก โดยไม่หวาดหวั่น ทั้งที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบด้วยจำนวนเรือและระวางขับน้ำ แม้จะสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ล่าถอยไปได้แต่ฝ่ายเราก็ต้องสูญเสียเรือรบ ทั้ง ๓ ลำ พร้อมด้วยชีวิตของกำลังพล รวม ๓๖ นาย
        ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทัพเรือจึงจัดเรือหลวงสมุยเดินทางฝ่าอันตราย เพื่อลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์มายังประเทศไทยหลายครั้ง ระหว่างการลำเลียงน้ำมันได้ถูกเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีจมลงบริเวณนอกฝั่งรัฐตรังกานู ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๓๑ นาย นอกจากนี้ กองทัพเรือยังสูญเสียกำลังพลในการต่อสู้ป้องกันการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรในหลายพื้นที่ระหว่างสงครามเดียวกันอีก ๗ นาย
         ในช่วงสงครามเกาหลี กองทัพเรือได้สูญเสียเรือหลวงประแส ลำที่หนึ่ง พร้อมกับกำลังพลประจำเรือ จำนวน ๒ นาย, ในสงครามเย็น มีการสู้รบในหลายพื้นที่กำลังพลของกองทัพเรือเข้าร่วมในยุทธการหลายครั้ง ได้แก่ ยุทธการสามชัย จังหวัดเพชรบูรณ์, ยุทธการดอยผาจิ จังหวัดเชียงราย, ยุทธการกรุงชิง จังหวัดนครศรีธรรมราช, ยุทธการดอนน้อย จังหวัดหนองคาย, ยุทธการบ้านโขดทราย และยุทธการบ้านชำราก จังหวัดตราด กองทัพเรือต้องสูญเสียกำลังพลผู้กล้าหาญ จำนวน ๓๗ นาย
         นอกจากนี้ กองทัพเรือต้องสูญเสียกำลังพลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา จำนวน ๓๔ นาย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า ๓๔๒ นาย ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนและเสียสละทั้งสิ้น นับเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการสรรเสริญยกย่องเช่นเดียวกับวีรกรรมและความกล้าหาญของบรรพชนทหารเรือที่ได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่ครั้งอดีต ซึ่งได้รับการสดุดียกย่องและยังคงดำรงอยู่ในจิตใจของทหารเรือทุกคนจนถึงปัจจุบัน (ที่มา : สลก.ทร.)