วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ตัณหาพาให้ทุกข์"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบและนำไป ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ความทุกข์ก็จะไม่ไหลเข้ามาสู่ใจ ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ตัณหาพาทุกข์ใจ"
         คำกล่าวที่ว่าความอยากคือที่มาแห่งปัญหามากมาย ดูเหมือนจะเป็นคำกล่าวที่เป็น สัจธรรมมาช้านาน ยิ่งอยากมากก็ยิ่งมีปัญหามาก เพราะความอยากเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เรียกว่าตัณหา ท่านแบ่งความอยากของมนุษย์ไว้สามประเภท คือ หนึ่งกามตัณหา คือ อยากได้ สองภวตัณหา คือ อยากเป็น และสามวิภวตัณหา คือ อยากไม่เป็น ปัญหาที่เกิดในสังคมส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้และความไม่รู้จักพอ กล่าวคือ อยากได้แต่ไม่ได้ เมื่อได้แล้วก็ยังไม่รู้จักพอ อยากเป็นแต่ไม่ได้เป็น เมื่อเป็นแล้วก็ยังไม่รู้จักพอ หรืออยากไม่เป็น แต่ต้องเป็น ก็ไม่ถูกใจ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วมนุษย์ก็จะทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความอยากของตนเอง ด้วยการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ให้เป็นตามความอยาก โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี เพราะมนุษย์แก้ปัญหากันอย่างนี้
ความทุกข์ร้อนจึงเกิดขึ้นลุกลามไปทั่ว ความจริงแล้วไม่มีใครสนองกิเลสตัณหาให้สำเร็จสมบูรณ์ได้ เนื่องจากตัณหามีแต่ขึ้น ไม่มีลง และไม่มีพอเหมือนมหาสมุทรที่ไม่เคยอิ่มน้ำ ดังนั้น ความดิ้นรนความทะยานอยากของคน จึงไม่มีขอบเขตจำกัด ได้มาก ได้น้อย ก็ยังไม่รู้สึกพออยู่ดี
          ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกว่าเกิดปัญหาขึ้นเพราะความอยากถ้าจะคิดแก้ไข ก็ต้องแก้ไขให้ถูกวิธี คือ แทนที่จะดิ้นรนสนองตัณหา ก็ควรจะแก้ความอยาก ด้วยความไม่อยาก แก้ความไม่พอ ด้วยความรู้จักพอ ฝึกเป็นคนมีเหตุผลและยอมรับความเป็นจริงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำอย่างเต็มความสามารถอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ผลที่เกิดขึ้นจะได้เท่าไร หรือไม่ได้ จะเป็นอะไร หรือไม่เป็น ก็ให้รู้จักพอและยอมรับเท่านั้น ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ยอมเป็นทาสของกิเลสต่าง ๆ ได้โดยง่าย ประกอบกับใจเรารู้สึกพอ ตามที่ได้ ยอมรับตามที่เป็น ก็จะสร้างสุขได้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากตัณหาก็จะเบาบางลงและสบายไปในที่สุด (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)