เจ้ากรมอุทกศาสตร์
เป็นประธานเปิดกิจกรรมเนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก ณ กรมอุทกศาสตร์
บางนา
วันนี้
(๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖) เวลา ๐๙.๐๐ น. พลเรือโท กิตติธัช วิโรจน์วงศ์
เจ้ากรมอุทกศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก
ณ ห้องประชุม กรมอุทกศาสตร์ ๒ อาคารกองสมุทรศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์
แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานประกอบด้วย การแถวฟังสารเนื่องในวันอุทกศาสตร์โลกจากพลเรือเอก
สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ การจัดวีดีทัศน์แนะนำภารกิจของกรมอุทกศาสตร์
และความสำคัญของงานอุทกศาสตร์ต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภาคทะเล
การจัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "งานอุทกศาสตร์ - ปัจจัยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภาคทะเล"
และการบรรยายพิเศษเรื่อง "แนวทางการให้บริการการเดินเรือจากปัจจุบันสู่อนาคต"
นอกจากนี้ ได้เปิดให้ผู้สนใจเยี่ยมชม หอประวัติอุทกศาสตร์ พิพิธภัณฑ์อุทกศาสตร์
และเรือสำรวจอุทกศาสตร์
องค์การอุทกศาสตร์สากล
ได้กำหนดให้วันที่ ๒๑ มิถุนายน ของทุกปี
เป็นวันอุทกศาสตร์โลก
โดยได้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘
เพื่อต้องการให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญ
และเข้าใจในบทบาทของงานอุทกศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วโลก
วันอุทกศาสตร์โลกในปีนี้องค์การอุทกศาสตร์สากลได้กำหนดหัวข้อของการจัดงาน
วันอุทกศาสตร์โลกไว้ว่า
"งานอุทกศาสตร์ -
ปัจจัยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภาคทะเล"
(Hydrography - Underpinning the Blue Economy)
โดยได้ให้ความหมายของคำว่าเศรษฐกิจภาคทะเล
(Blue Economy) หมายถึง
ผลรวมของกิจกรรมทางทะเลทั้งปวงที่เชื่อมโยงกับมหาสมุทร
ทะเล ท่าเรือ และพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งนี้
เพื่อให้ประเทศสมาชิกตระหนักถึงความสำคัญที่โลกต้องมีการดำเนินงานด้าน
อุทกศาสตร์อย่างจริงจัง
และเนื่องในวันอุทกศาสตร์โลกที่ได้เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่ง
ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ กรมอุทกศาสตร์
ในฐานะหน่วยงานสำรวจและสร้างแผนที่เพื่อการเดินเรือ
เครื่องหมายทางเรือ
ตลอดจนการให้บริการข้อมูลข่าวสารเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ
ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างให้น่านน้ำไทยเป็นน่านน้ำที่มีความปลอดภัยแห่ง
หนึ่งของภูมิภาคและของโลก
และสามารถอำนวยประโยชน์ต่อเศรษฐกิจภาคทะเลได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
สำหรับการจัดบรรยายทางวิชาการเนื่องในวันอุทกศาสตร์โลกในครั้งนี้
จะส่งผลดีต่อการพัฒนาให้เกิดความปลอดภัยของการเดินเรือในน่านน้ำไทย
และช่วยให้งานอุทกศาสตร์ได้ทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภาคทะเล
ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
(ที่มา : อศ.)