วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิธีปิดการประชุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกองทัพเรือภูมิภาคแปซิฟิกฯ

วันนี้ (๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖) เวลา ๑๑.๔๕ น. พลเรือเอก อมรเทพ ณ บางช้าง ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกองทัพ เรือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ประจำปี ๒๕๕๖ หรือ Western Pacific Naval Symposium (WPNS) Workshop 2013 ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน แอนด์ทาวเวอร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
       กองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกองทัพเรือ ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ หรือ Western Pacific Naval Symposium (WPNS) Workshop 2013 ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมรอยัลออคิดเชอราตัน แอนด์ทาวเวอร์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยมีกองทัพเรือประเทศสมาชิก (Members) และประเทศสังเกตการณ์ (Observers) ในภาคีการประชุมกองทัพเรือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกแต่ละประเทศ จัดส่งคณะผู้แทน เข้าร่วมประชุม
       การประชุมหัวหน้าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกองทัพเรือภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ในครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับ Workshop ครั้งที่ ๒๒ มีกองทัพเรือประเภทภาคีการประชุมจำนวนทั้งสิ้น ๒๔ ประเทศโดยแบ่งเป็นประเทศสมาชิกจำนวน ๒๑ ประเทศ ได้แก่ ไทย ออสเตรเลีย แคนาดา ชิลี ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา ตองกา มาเลเซีย บรูไน นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี จีน เปรู ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รัสเซีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศสังเกตการณ์มีจำนวน ๓ ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย และเม็กซิโก ในการนี้ กองทัพเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุม มี พลเรือตรี ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และนาวาเอก ชูศักดิ์ ชูไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็น รองประธานกรรมการอำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายเลขานุการจัดการประชุม โดยมีสาระสำคัญที่กองทัพเรือจะนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งนี้ได้แก่ แนวคิดริเริ่มการบูรณาการกำลังผสมทางเรือ เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Maritime Forces Integration Initiative for Humanitarian Assistance and Disaster Relief)
         การประชุม WPNS ในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนคติ ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมการประชุมในทุกระดับอันก่อให้เกิดความคิดริ เริ่มเพื่อการพัฒนาและเพื่อความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการฝึกร่วมของกองทัพเรือประเภทภาคี เช่น การฝึกปัญหาที่บังคับการเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัย พิบัติ และการฝึกต่อต้านทุ่นระเบิด การฝึกดำน้ำ เป็นต้น
        นอกจากนี้ ได้จัดให้มีการสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการฝึกดังกล่าว จะเป็นมาตรการในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและการสร้างความรู้ ความเข้าใจในด้านขีดความสามารถของกำลังทางเรือ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานร่วมกันในอนาคต กองทัพเรือประเทศภาคีได้ร่วมกันจัดทำตารางข้อมูลขีดความสามารถในการปฏิบัติ การร่วม ซึ่งระบุชนิดและจำนวนของเรือ รวมทั้งอากาศยานที่กองทัพเรือแต่ละประเทศมีใช้ในราชการ กับได้ทำการปรับแต่งและแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันได้ร่วมจัดทำ ปรับแต่ง และแก้ไขบรรณสารปฏิบัติการทางเรือ เพื่อให้กองทัพเรือประเภทภาคีได้ใช้ร่วมกัน เช่น ประมวลรหัสการเผชิญเหตุการณ์ในทะเล และคู่มือการปฏิบัติต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ เป็นต้น รวมทั้งกำหนดให้มีการดำรงการติดต่อสื่อสาร และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศภาคีทาง WPNS Website ในเครือข่าย APAN ตลอดจนการกำหนดให้มีช่องทางการสื่อสารประจำระหว่างผู้ประสานงานที่กองทัพ เรือประเทศภาคีแต่ละประเทศกำหนดหรือมอบหมาย (Points of Contact) เพื่อความทันสมัยของ ข้อมูลข่าวสาร และความต่อเนื่องของการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันอีกด้วย (ที่มา : สลก.ทร.)