วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "สูตรสร้างเสน่ห์"

 "เสน่ห์" หมายถึง ลักษณะที่น่าประทับใจ ชวนรักใคร่ ชื่นชม นิยมยินดีแก่ผู้ที่ได้พบเห็น ส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่า เสน่ห์สามารถสร้างได้จากเหตุปัจจัยภายนอก เช่น การตกแต่งด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือเครื่องประดับนานาชนิด การทำศัลยกรรม หรือด้วยวิธีทางไสยศาสตร์ เป็นต้น การกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างเสน่ห์ภายนอก เพราะต้องอาศัยคนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นเครื่องช่วย ซึ่งนอกจากจะต้องใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองแลกเปลี่ยนในราคาสูงแล้ว ยังอาจเกิดผลเสียข้างเคียงและสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกด้วย
         ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงแสดงสูตรสร้างเสน่ห์ไว้เช่นกัน เรียกว่า สังคหวัตถุธรรม หรือหลักธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ๔ ประการ กล่าวคือ
           ๑. ทาน คือ การเสียสละ แบ่งปันวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้ำใจไมตรีแก่ผู้ที่ด้อยโอกาส หรือผู้เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก เรียกว่า เสน่ห์ดีที่การให้
           ๒. ปิยะวาจา คือ การพูดจาปราศรัยด้วยความจริงใจ ด้วยคำไพเราะ อ่อนหวาน มุ่งประสานทั้งประโยชน์และสามัคคีในหมู่คณะเป็นที่ตั้ง เรียกว่า เสน่ห์ดีที่การพูด
           ๓. อัตถะจริยา คือ การมีจิตสาธารณะ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยบริสุทธิ์ใจไม่หวังสิ่งตอบแทน เรียกว่า เสน่ห์ดีที่การบำเพ็ญประโยชน์
           ๔. สมานัตตะตา คือ การรู้จักวางตัวดี มีมนุษยสัมพันธ์ทั้งกับคนในครอบครัวและในการเข้าสังคม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เรียกว่า เสน่ห์ดีที่รู้จักวางตัวเหมาะสม
          สูตรสร้างเสน่ห์ตามวิถีพุทธทั้ง ๔ ประการดังกล่าว จัดเป็นการสร้างเสน่ห์จากภายในที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่จำกัดชั้นวรรณะ ไม่ต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากเป็นของแลกเปลี่ยน ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงบ้าง ก็จะมีแต่ผลดี ๆ และนอกจากจะไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นเสมือนการสร้างเกราะกันภัยให้ตัวเองโดยอัตโนมัติอีกด้วย (ที่มา : กองอนุศาสนาจารย์ ยศ.ทร.)