วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

"ขบวนการพาจน" ที่กลุ่มใหญ่ในสังคมยังตกอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์

  คำว่า จน ตามพจานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า "อัตคัดขัดสน ฝืดเคือง มีเงินไม่พอยังชีพ" ในความรู้สึกของคนทั่วไป ความจน เป็นสภาวะที่ไม่มีใครปรารถนา ควรหลีกหนีให้ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป หากไม่ได้พบกับความจนจะถือว่าเป็นบุญสูงสุดในชีวิต แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คนจน ยังคงมีจำนวนมากกว่าคนรวยหลายเท่า ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อทุกคนไม่ปรารถนาความจน ทำไมคนจน จึงเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการวิเคราะห์ตามหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ พบว่า ความจนจะไม่หนีไปไหนและจะคงอยู่คู่โลกตลอดไป ตราบเท่าที่ประชากรยังตกอยู่ในวังวนของขบวนการพาจน ๔ ประการ คือ
           - เกียจคร้านจนตัวเป็นขน มีลักษณะนิสัยกิน เป็นต้น นอนเป็นประธาน เกียจคร้านเป็นปริโยสาน มักมากไปด้วยข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการทำงาน
          - ประพฤติตนสุรุ่ยสุร่าย มีลักษณะเป็นคนชอบจับจ่ายใช้สอย เกิดความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น อะไรที่ถูกใจจะซื้อเก็บไว้ โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริง บางรายเก็บไว้นานจนลืมไปเลยก็มี
          - คบคนอันตรายเป็นมิตร มีลักษณะนิสัยเป็นคนชอบคบหาเพื่อน ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เช่น ในเรื่องทรัพย์สินและชื่อเสียง เป็นต้น
          - ไม่พินิจในการบริโภค มีลักษณะเป็นคนขาดการประมาณการในชีวิต ขาดหลักการบริหารจัดการที่ดี และขาดหลักความเป็นอยู่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
          ตราบใดที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก ยังคงเป็นสมาชิกของขบวนการพาจนทั้งสี่ คือ เกียจคร้านจนตัวเป็นขน ประพฤติตนสุรุ่ยสุร่าย คบคนอันตรายเป็นมิตร และไม่พินิจในการบริโภค ตราบนั้น คนกลุ่มใหญ่ในสังคมก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ในวัฎจักรแห่งความทุกข์เพราะความจน สอดคล้องกับพระพุทธพจน์ที่ว่า "ทะฬิททิยัง ทุกขัง โลเก" แปลว่า "ความจนเป็นทุกข์ในโลก" นั่นเอง (ที่มา : ยศ.ทร.)