วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

ลักษณะของผู้ที่มี "จิตอาสา" อย่างแท้จริง

ลักษณะของผู้ที่มี "จิตอาสา" อย่างแท้จริง
กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เผยแพร่บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "จิตอาสา" ให้แก่ข้าราชการ ทหารกองประจำการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการ ได้ทราบถึงลักษณะของผู้ที่มีจิตอาสาอย่างแท้จริง
         จิตอาสา หมายถึง จิตที่ปรารถนาอยากจะทำประโยชน์ให้แก่สังคมส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และกระทำประโยชน์โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เป็นการกระทำด้วยจิตที่อาสาอยากจะช่วยเหลือ อยากจะพัฒนา ดังมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งมีน้ำท่วมใหญ่ในที่แห่งหนึ่ง ทำให้สะพานไม้ของชุมชนแห่งนั้นได้ถูกน้ำพัดพาเกิดความเสียหาย แผ่นกระดานชำรุดกระดกพลิกหงายมีตะปูโผล่อยู่ ชายคนหนึ่งเดินข้ามสะพานมองเห็นตะปู เขาคิดว่าไม่ใช่ธุระอะไรที่จะต้องมาซ่อมสะพาน ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากกว่า จึงเดินจากไปโดยไม่แยแส ชายคนที่สองเดินข้ามสะพานมาในเวลาเย็นเขาได้เหยียบตะปูเข้าอย่างจัง และคิดว่าใครหนอเอาตะปูมาวางไว้ให้เราเหยียบ ช่างโชคร้ายเสียเหลือเกิน ปล่อยไว้เช่นเดิมจะดีกว่า เพื่อให้คนอื่นเหยียบบ้าง จะได้เจ็บเหมือนเรา เป็นการไม่เสียเปรียบ แล้วก็เดินจากไป ชายคนที่สามเดินมาเวลาเช้า เขามองเห็นรอยเลือด เมื่อมองดูบริเวณโดยรอบ จึงทราบว่ามีคนเดินข้ามสะพานมาแล้วเหยียบตะปู เขาคิดว่าไม่ใช่เรื่องอะไรของเรา อย่าไปสนใจ แล้วก็รีบเดินจากไป ชายคนที่สี่เดินผ่านมาเห็นตะปูเข้า เขาคิดสงสารคนที่เหยียบตะปูขึ้นมาทันที โดยคิดว่าถ้าขืนปล่อยไว้ให้ตะปูโผล่อยู่อย่างนี้ คงมีคนเดินมาเหยียบอีกหลายคนเป็นแน่ จึงหยิบก้อนหินมาทุบตะปูให้แบนราบลงไปแล้วจึงเดินจากไปอย่างมีความสุข
         ในสังคมมนุษย์ทุกวันนี้มีบุคคลที่มีความคิดอยู่สี่ลักษณะ คือ
           - มีความคิดที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับสังคม เป็นการเสียเวลา
           - คิดว่าการช่วยเหลือคนอื่นนั้นเป็นการเสียเปรียบ ไม่ควรปฏิบัติ เสียศักดิ์ศรี
           - คิดว่าการเสียสละเป็นเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของเรา
           - มีความคิดว่า เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมที่จะต้องช่วยเหลือกัน
        หากผู้ใดมีความคิดที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับสังคม การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นการเสียเปรียบ หรือการเสียสละเป็นเรื่องที่มิใช่หน้าที่ของตน ผู้นั้นหาได้ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตอาสาไม่ แต่หากมีความคิดว่าเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่ต้องช่วยเหลือสังคมให้เจริญ รุ่งเรือง อยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวม คนที่มีความคิดในลักษณะดังกล่าว จึงสมควรเรียกว่า ผู้มีจิตอาสาอย่างแท้จริง (ที่มา : ยศ.ทร.)