วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง โซ่ล่ามช้าง

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับสิ่งที่ดี เรื่อง "โซ่ล่ามช้าง"
ผู้ที่เคยไปเที่ยวสวนสัตว์และผ่านไปที่โรงช้าง หากเป็นคนช่างสังเกตจะพบกิริยาของช้างอย่างหนึ่งคือ ช้างที่เลี้ยงในโรงช้างนั้น จะมีอาการเดินหน้า ถอยหลังไป ๆ มา ๆ อยู่กับที่ เหตุเพราะขาข้างหนึ่งถูกล่ามโซ่ไว้กับเสา ทำให้เดินได้เพียง ๒ - ๓ ก้าว เมื่อโซ่ตึงก็ต้องถอยหลังมา ณ ที่เดิม เป็นเช่นนี้ตั้งแต่เป็นช้างตัวเล็ก ๆ จนกระทั่งเป็นช้างหนุ่ม และแก่ ก็ยังคงเดินในลักษณะดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลง โซ่ที่ล่ามขาช้างตั้งแต่สมัยเป็นตัวเล็ก ๆ นั้น เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนช้างทั้งชีวิตว่ามันเดินไปข้างหน้าอีกไม่ได้แล้ว มันจะต้องถอยหลัง แม้เมื่อโตเป็นช้างหนุ่มมีกำลังวังชาที่สามารถกระตุกโซ่ให้ขาดได้ แต่ความเคยชินที่เกิดมาตั้งแต่ต้น ก็ย้ำให้ช้างรู้ว่าไม่อาจเดินต่อไปข้างหน้าได้ เดินไปนิดหน่อยก็จะต้องถอยหลัง และไม่คิดจะลองก้าวขาเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็นก้าวหนึ่งหรือสองก้าว
ลักษณะจิตของปุถุชน โดยทั่วไปเป็นจิตที่ข่มได้ยาก เกิดดับเร็วและมักตกไปตามอารมณ์ที่น่าใคร่เสมอ หากใครดำเนินชีวิตด้วยการปล่อยตัวไปตามอำนาจของจิตใจฝ่ายต่ำแล้ว มักจะประสบกับความเดือดร้อนเสมอ เพราะสิ่งที่จิตอยากนั้น เมื่อทำตามก็มักติดใจหลงใหลถอนตัวได้ยาก หนักเข้าก็เสื่อมทรัพย์ เสื่อมสุขภาพ และเสื่อมจากความดีในที่สุด เหตุนั้นทางศาสนาจึงสอนให้ฝึกจิตโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น ให้กำหนดจิตไว้กับอารมณ์ที่ดี มีกำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นต้น เมื่อทำไปโดยสม่ำเสมอ จิตย่อมนิ่งไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ และเมื่อนั้นความสงบในชีวิตก็จะเกิดขึ้น แม้จะยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่วุ่นวาย ชีวิตก็มีความสุขได้ เพราะสุขหรือทุกข์อยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ
โซ่ล่ามช้าง ช่วยให้ช้างไม่หลุดออกจากที่ควบคุมไปทำอันตรายแก่ผู้คน ฉันใด สติก็เป็นประดุจโซ่ล่ามจิตไว้กับอารมณ์ที่ดี ฉันนั้น การใช้สติควบคุมจิตให้อยู่กับสิ่งที่ดี จึงเป็นกิจที่สำคัญดังคำพระที่ว่า การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เกิดและดับเร็ว มีลักษณะตกไปตามอารมณ์ที่น่าใคร่ เป็นความดีงาม เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้นั่นเอง (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)