วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กองเวชกรรมป้องกัน เตือนกำลังพลระวังโรคที่เกิดในฤดูฝน

กองเวชกรรมป้องกัน เตือนกำลังพลระวังโรคที่เกิดในฤดูฝน ๑๕ โรค
         กองเวชกรรมป้องกัน กรมแพทย์ทหารเรือ มีความห่วงใยสุขภาพและอนามัยของกำลังพลกองทัพเรือในช่วงฤดูฝน เตือนให้ระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร การใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงการเดินย่ำหรือแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมขัง การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศเย็นและชื้น การป้องกันยุงกัด การป้องกันน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา พร้อมแนะวิธีการป้องกัน และดูแลผู้ป่วย โรคที่ต้องระวังเป็นที่พิเศษเกิดในฤดูฝน ๕ กลุ่มโรคติดต่อ รวม ๑๕ โรค ได้แก่
- กลุ่มโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ และตับอักเสบ วิธีการป้องกัน ควรกินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม และดื่มน้ำที่สะอาด
- กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ ไข้ฉี่หนู อาการจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรงและตาแดง วิธีการป้องกัน กำจัดหนูและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยไม่เดินย่ำหรือแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมขัง
- กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปลอดอักเสบหรือปอดบวม อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย วิธีการป้องกัน ควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม
- กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี และโรคมาลาเรีย อาการเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบอาจทำให้พิการภายหลังได้ วิธีการป้องกัน ลดการสัมผัสระหว่างคนและยุงพาหะ เช่น นอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อกำจัดยุง ใช้ยาทากันยุงหรือสมุนไพรกันยุง กำจัดลูกน้ำด้วยการใส่ทราย อะเบท และเลี้ยงปลากินลูกน้ำยุง
- โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา วิธีการป้องกัน ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หากป่วยแล้ว ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา ไม่ควรใช้สายตามาก และควรแยกจากคนอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแพร่ระบาด
สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมของการเกิดของโรค วิธีการป้องกันและการดูแลผู้ป่วย ได้ที่เว็บไซต์ http://www.nmd.go.th/preventmed (ที่มา : กกป.พร.)