วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โรคที่มากับน้ำท่วม รู้ไว้ ป้องกันได้

 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม ได้แก่
        - โรคตาแดง จะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง อาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้างหนึ่ง
วิธีป้องกัน ถ้ามีฝุ่นละอองหรือน้ำสกปรกเข้าตาต้องรีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที, ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา, ไม่ควรใช้สายตามากนัก และแยก ผู้ป่วยโรคตา ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น - ไข้เลือดออก มีอาการ ไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ตามลำตัว แขน ขา
        วิธีป้องกัน ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน โดยนอนในมุ้งทายากันยุง และกำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านทุกสัปดาห์ โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ คว่ำหรือทำลายภาชนะไม่ให้มีน้ำขัง
        - โรคทางเดินหายใจ อาการ มีไข้ ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
        วิธีป้องกัน ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น เช็ดตัวให้แห้งอยู่เสมอ และสวมเสื้อผ้าให้หนาพอ หากอากาศเย็น, หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด, ปิดปากและจมูกด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่
        - โรคทางเดินอาหาร อาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อย ตามตัว เบื่ออาหาร
        วิธีป้องกัน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาดไม่บูดเสีย อาหารกระป๋องยังไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวมหรือเป็นสนิม, ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก น้ำขวด, ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนปรุงและเตรียมอาหารก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย และห้ามถ่ายอุจจาระลงในน้ำโดยตรง ให้ถ่ายลง

ในถุงพลาสติก แล้วใส่ปูนขาวในจำนวนพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงดำ (ถุงขยะ)
       - โรคฉี่หนู อาการ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางรายมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน
       - โรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อยและเป็นหนอง คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีผื่นพุพอง ผิวหนังอักเสบบวมแดง
       วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลนโดยไม่จำเป็น, ถ้ามีบาดแผลต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกน้ำโดยสวมรองเท้าบู๊ทยาง และหากต้องลุยน้ำย่ำโคลนต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งอยู่เสมอโดยเร็วที่สุด
       - อุบัติเหตุจากไฟดูด จมน้ำ บาดเจ็บจากการเหยียบของแหลมมีคม
        วิธีป้องกัน ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัดเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้านก่อนที่น้ำจะท่วมถึง, เก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคมในบริเวณอาคารบ้านเรือน และตามทางเดินอย่างสม่ำเสมอ ระมัดระวังดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
(ที่มา : กรมควบคุมโรค)