วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ติด "ทุ่นลอยน้ำลึก" ตรวจคลื่นยักษ์สึนามิ

       ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ นำร่องติดตั้งทุ่นลอยน้ำลึกตรวจวัดคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลอันดามัน จาก ท่าเรือศูนย์พัฒนา การประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ไปยังจังหวัดภูเก็ต โดยเรือ "ซีฟเดค" มีกำหนดถึงในวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ และไปยังจุดติดตั้งทุ่นแห่งแรกใกล้เขตประเทศมาเลเซีย ซึ่งห่างออกไปอีก ๑๓๐ กิโลเมตร ในวันที่๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ และติดตั้งจุดที่สอง ใกล้เขตประเทศพม่า ภายในวันที่ ๑๖ ธันวาคม
       สำหรับทุ่นที่ปล่อยมี ๒ ชุด มูลค่า ๑๕๐ ล้านบาท แต่ละชุดประกอบด้วยส่วนที่วางกับพื้นท้องทะเล จุดแรกลึก ๗๐๐ เมตร จุดที่สองลึกราว ๒,๐๐๐ เมตร ทำหน้าที่วัดการเปลี่ยนแปลงของแรงดันน้ำเมื่อเกิดคลื่นสึนามิและการเคลื่อนผ่านตัวของน้ำ จากนั้นจะส่งข้อมูลด้วยสัญญานอะคูสติกกำลังส่ง ๒๐ กิโลเฮิร์ตซ ไปยังส่วนที่สอง ซึ่งเป็นทุ่นลอยระดับผิวน้ำ (เซอร์เฟซ บุย) ทำหน้าที่แปลงสัญญาณส่งด้านดาวเทียมอิมมาแซต แล้วส่งกลับมายังพื้นโลกที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ใช้เวลาไม่เกิน ๕ นาที เพื่อประมวลผลเพื่อตัดสินใจแจ้งประกาศเตือนภัย ทั้งนี้ ภายในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ทุ่นลอยแรก จะเริ่มทำงานส่งสัญญาณกลับมาได้
       การปล่อยทุ่นเตือนภัยในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคำพยากรณ์ว่าจะมีเหตุร้ายคลื่นสึนามิปลายเดือนธันวาคมแต่อย่างใด แต่ได้เตรียมการล่วงหน้าเป็นปี และการเลือกเวลาปล่อยทุ่นช่วงนี้ เพราะทะเลอันดามันคลื่นลมสงบ ส่วนกรณีรายงานข่าวที่ระบุว่าทุ่นเตือนภัยที่เคยติดตั้งไว้เสียหายนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เสียหาย แต่เป็นเพราะเชือกโยงทุ่นลอยน้ำกับส่วนที่วางใต้ท้องทะเลขาดจากกัน เพราะมีเรือประมงลักลอบผูกเรือ และได้เก็บทุ่นกลับมา เพื่อรอนำไปติดตั้งใหม่ ซึ่งการติดตั้งในครั้งนี้ ได้เตรียมการรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้เชือกโยงที่ขนาดโตขึ้นกว่าเดิม (ที่มา : เดลินิวส์)