วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ความรับผิดชอบ"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ความรับผิดชอบ"
         พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำว่า "ความรับผิดชอบ" ไว้ว่า หมายถึง การยอมรับผลทั้งที่ดีและไม่ดีในกิจการที่ตนได้ทำลงไปหรือที่อยู่ในความดูแลของตน ลักษณะของผู้มีความรับผิดชอบนั้นแบ่งประเภทได้ดังนี้
            ๑. รับผิดชอบต่อตนเอง หมายถึง การรู้จักป้องกันและขจัดปัญหาที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ทั้งทางกายและทางใจ ทางกาย ได้แก่ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยหลัก ๕ อ. ได้แก่ อาหาร อากาศ อุจจาระ อารมณ์ และออกกำลังกาย ทางใจ ได้แก่ การไม่เครียด ไม่โกรธ ไม่พยาบาท และรู้จักทำจิตใจให้ผ่องใส
            ๒. รับผิดชอบต่อหน้าที่ หมายถึง การแสดงออกถึงความมีจิตสำนึกมุ่งมั่น และความตั้งใจที่จะทำให้งานที่ได้รับมอบหมายให้ประสบผลสำเร็จตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการงานทั้งของตนเองและของผู้ร่วมงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย
            ๓. รับผิดชอบต่อเวลา หมายถึง การรู้จักใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและเป็นคนตรงต่อเวลา ดังคำกล่าวที่ว่า "เวลาเป็นสิ่งที่เราเก็บสะสมไว้ไม่ได้ เราจึงต้องใช้เวลาอย่างดีที่สุด" และพุทธพจน์ที่ว่า "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่" ที่ทรงมุ่งเตือนให้พุทธศาสนิกชนไม่ประมาทมัวเมาในวัยและชีวิต เพราะเวลาผ่านไป ย่อมไม่อาจย้อนกลับคืนมาได้
            ๔. รับผิดชอบต่อสังคม หมายถึง การแสดงออกถึงความมีจิตสาธารณะและรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องและ อยู่รอบตัว ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน ครูอาจารย์ เป็นต้น เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่คนเดียวไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อกันอย่างเหมาะสม
               หากคนเรามีลักษณะตามที่กล่าวข้างต้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบซึ่งเป็นหนึ่งในประมวล จริยธรรมกองทัพเรือ ๑๑ ประการ ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพันด้วย ความพากเพียรและความละเอียดรอบคอบ ยอมรับผลของการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ทั้งพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปด้วยความราบรื่น สงบสุข อีกด้วย (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)