วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558

กรมประมง ประกาศ ๑ เมษายน นี้ นำร่อง...แจ้งเรือประมงเข้า - ออกท่า ๔ จังหวัดภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

ตั้งแต่วันที่ ๑ ถึง ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ กรมประมงทดลองการใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง (Port in - Port out) ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา และ จังหวัดภูเก็ต ขอความร่วมมือเรือประมง ขนาด ๓๐ ตันกรอส ขึ้นไป ปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงเพื่อช่วยขจัดการทำประมง IUU
         วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ กรมประมงจะดีเดย์เริ่มทดลองใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้า - ออกของเรือประมง (Port in - Port out) สำหรับเรือประมงที่มีขนาด ๓๐ ตันกรอส ขึ้นไป ก่อนจะออกไปทำการประมง และกลับเข้าเทียบท่า ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกของเรือประมงที่กำหนด เพื่อตรวจสอบข้อมูลการทำประมง อาทิ ตรวจสอบเครื่องมือทำการประมง ว่าถูกต้องตามใบอนุญาตหรือไม่ ชนิดสัตว์น้ำที่จับได้มาสอดคล้องกับประเภท ชนิด เครื่องมือหรือไม่ ท่าเรือที่เข้า-ออก ทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ชื่อเรือประมง เครื่องมือและอุปกรณ์ประจำเรือ บุคคลทำการประมงประจำเรือ (กัปตัน เจ้าของเรือ แรงงานบนเรือ) มีรายชื่อ จำนวนแรงงานถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือไม่ และสัญญาจ้างแรงงานประมง รวมถึงบุคคลต่างด้าวที่เป็นลูกเรือ ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานคนต่างด้าวด้วย ฯลฯ
         ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า - ออกเรือประมง ตั้งอยู่ที่สถานีวิทยุประมงชายฝั่งของกรมประมง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ท่าเทียบเรือ จำนวน ๒๖ ศูนย์ ครอบคลุมท่าเทียบเรือ ๒๙๒ แห่ง ทั้งนี้ ในครั้งแรกจะทดลองนำร่องการปฏิบัติงานในพื้นที่ ๔ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสงขลา และจังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ ๑ - ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ โดยการปฏิบัติงานในพื้นที่ครั้งนี้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง อาทิ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ และหลังจากนี้จะมีการนำผลการทดลองการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง มาประชุมวิเคราะห์ออกกฎหมายลำดับรองเพื่อดำเนินการบังคับ
          สำหรับแนวทางการดำเนินการ ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน ดังนี้
           ขั้นที่ ๑ เรือประมงกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน เพื่อนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ท่าเรือ แพปลา ก่อนที่จะออกเรือ ๖ ชั่วโมง หรือภายใน ๓ ชั่วโมง หลังจอดเรือเสร็จ
           ขั้นที่ ๒ เจ้าหน้าที่ท่าเรือ/แพปลา ส่งโทรสาร หรือ Line ภาพถ่ายแบบฟอร์ม รายงานการเข้า - ออก Port in - Port out (PIPO) ที่เรือประมงกรอกไว้ ส่งให้เจ้าหน้าที่ศูนย์รายงานการเข้า - ออกเรือประมง Port in - Port out (PIPO) ที่คุมท่าเรือนั้น ๆ
           ขั้นที่ ๓ เจ้าหน้าที่ศูนย์รายงานเข้า - ออกเรือประมง Port in - Port out (PIPO) ตรวจสอบความสมบูรณ์ ความถูกต้องของข้อมูล แล้วบันทึกลงในระบบ Fishing info ของกรมประมง
         เมื่ออยู่ในทะเล เรือประมงต้องเปิดระบบติดตามเรือ หรือระบบ VMS (Vessel Monitoring System) ซึ่งในขณะนี้กรมเจ้าท่ากำลังดำเนินการติดให้กับเรือประมงต่าง ๆ เพื่อให้ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต ๑ - ๓ สามารถติดตามเรือประมงต่าง ๆ ได้จากระบบ Fishing info และระบบติดตามเรือ หรือ VMS (Vessel Monitoring System) ผ่าน ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
         ดังนั้น จึงขอความร่วมมือชาวประมงในพื้นที่ ทดลองนำร่องการปฏิบัติการในครั้งนี้ตามกำหนดการ และสถานที่ดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงถึงการให้ความร่วมมือของชาวประมงไทยในการขจัดการ ทำประมง IUU
(ที่มา : กรมประมง)