เมื่อปีพุทธศักราช
๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคาร
โลก
ซึ่ง นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้า ฯ
ถวายและได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๔
โดยให้ศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ศูนย์
ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตลอดจนพื้นที่อื่น
ๆ โดยให้พิจารณาการปลูกตามความเหมาะสมของภูมิประเทศ
และควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษา
ทดลองให้ครอบคลุมทุกด้าน
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในโอกาสต่าง
ๆ อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(กปร.) รวบรวมได้ ๓๐ ครั้ง โดยในระยะแรกหน่วยงานต่าง ๆ ได้ศึกษาดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก
อาทิ กรมพัฒนาที่ดิน กรมป่าไม้ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน)
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ สำนักงาน กปร.ปัจจุบันมีหน่วยงานมากกว่า
๕๐ หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก
ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ
หญ้าแฝกเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง
เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้างฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว
ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว
หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน
ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกซึ่งเหมาะแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ
ดังนี้ แตกหน่อรวมเป็นกอเบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง แตกหน่อและใบใหม่
ไม่ต้องดูแลมาก หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้ มีใบยาว
ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย ระบบรากยาว สานกันแน่น
และช่วยอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ปรับตัวกับสภาพต่าง
ๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป และส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง
ๆ (ที่มา : กพ.ทร.)