วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันนี้ (๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๗) เวลา ๑๔.๐๐ น. กองทัพเรือ โดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ ห้องสมุดราชนาวิกสภา อาคารราชนาวิกสภา ชั้น ๒ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเรือตรี ไพฑูรย์ ประสพสิน ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพเรือ และ ดอกเตอร์ ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม
         การจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์ร่วมกัน
        ความเป็นมาเริ่มจากเมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐ กองทัพเรือโดย สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ กับ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ศทอ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี และสิ้นสุดลงเมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานที่ผ่านมา ศทอ. ได้ทำการตรวจวัดการรบกวนกันของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากระบบเรดาร์ วิทยุสื่อสารต่าง ๆ บนดาดฟ้าเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย ตลอดจนให้การสนับสนุนในการตรวจวัดความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาของกองทัพเรือ เช่น ต้นแบบเครื่องบินทะเล เป็นต้น ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องจึงได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออีกครั้งใน ครั้งนี้ โดยมีเนื้อหาพอสังเขป ดังนี้
         เป้าหมายและขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย
            ๑ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่าง สวทช. กับกองทัพเรือ ด้วยการจัดให้มีการบรรยายทางวิชาการ การฝึกอบรม การฝึกงานและศึกษาวิจัยในหัวข้อและโอกาสที่เหมาะสม
            ๒ การจัดทำโครงการศึกษาวิจัยโดยเน้นกิจกรรมที่ส่งผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรในรูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลประโยชน์ของชาติ
            ๓ การสนับสนุนความร่วมมือเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) ในการจัดทำเป็นสนามเครือข่าย Wi-Fi ประยุกต์ใช้งานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
            ๔ การสนับสนุนความร่วมมือเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ (Solar cell) ในการนำไปใช้งานตามหน่วยปฏิบัติการของกองทัพเรือบนเกาะต่างๆ
           ๕ การสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาสถานะอุปกรณ์ เครื่องมือวัดทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใช้งานในกองทัพเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
           ๖ การร่วมดำเนินโครงการวิจัยตามแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกองทัพเรือ พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๐
          ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน ครั้งนี้จะทำให้ทั้งสองหน่วยงานพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ร่วมกัน เพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้งานได้ ทั้งนี้ข้อตกลงความร่วมมือมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา ๕ ปี นับตั้งแต่สองฝ่ายลงนามร่วมกัน
(ที่มา : สวพ.ทร.)