วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "กาลามสูตร ๑๐ บวก ๓"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "กาลามสูตร ๑๐ บวก ๓"
        สัตว์หรือพืชที่เกิดมาผิดปกติหรือพิกลพิการ เช่น วัว ๓ ตา ๖ ขา ๒ หัว ทุกเรียนออกผลเป็นสีทอง ตาลต้นเดียวมี ๒ ยอด เป็นต้น มักจะมีคนแห่กันไปกราบไหว้บูชา ขอโชคขอลาภ ราวกับว่าสัตว์และพืชเหล่านั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ดลบันดาลให้สมหวังได้ดังที่ขอ ตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนเกิดมาผิดปกติหรือพิกลพิการ กลับได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นสิ่งแปลกประหลาดน่ารังเกียจ การปฏิบัติดังกล่าวแค่มองดูก็รู้ได้ว่า เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเกิดจากความเชื่อผิด ๆ จึงส่งผลให้เกิดจากการปฏิบัติผิด ๆ ดังกล่าว เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในกาลามสูตร หรือหลักความเชื่อ ๑๐ ประการ ว่าอย่าใจเร็ว ด่วนเชื่อในข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ คือ ฟังตาม ๆ กันมา ๑, ปรัมปราประเพณี ๑, ข่าวลือดีไม่ดี ๑, ถึงแม้มีในตำรา ๑, อย่าเชื่อโดยตรรกะ ๑, หรือหลักคาดคะเนหนา ๑, ตรึกตามอาการน่าจะเป็นน่าเห็นตาม ๑, สอดรับกับความเห็น ๑, รูปลักษณ์เด่นเลยไปถาม ๑ และ คนนี้น่าเชื่อตามในความรู้เพราะครูเรา ๑
         หลักความเชื่อตามกาลามสูตรทั้ง ๑๐ นั้น สามารถสรุปลงเหลือ ๒ คือ อย่าเชื่ออะไร และอย่าเชื่อใคร จนกว่าจะใช้หลักความเชื่ออย่างไรพิสูจน์ทราบเสียก่อน เพราะความเชื่อเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ถ้าเชื่อผิดก็ปฏิบัติผิด เมื่อปฏิบัติผิดย่อมได้รับผลเป็นทุกข์ เดือดร้อน เสียหายในหลาย ๆ เรื่อง ดังนั้น ในการที่จะตัดสินใจเชื่อเรื่องอะไร หรือเชื่อใคร โดยไม่ต้องเสียใจภายหลัง จำเป็นต้องนำหลักควรเชื่ออย่างไร ๓ ประการ มาช่วยพิสูจน์ทราบด้วยทุกครั้ง ได้แก่
         ๑. พิจารณาให้ทราบชัดด้วยสติปัญญาตนเองว่า ถ้าเชื่อแล้วฉลาดขึ้นหรือไม่ ถูกหลอกหรือเปล่า
         ๒. หากเกินสติปัญญาให้อาศัยทัศนะผู้รู้ประกอบการตัดสินใจว่า ผู้รู้สนับสนุนให้เชื่อ หรือคัดค้าน
         ๓. ให้ดูจากผลการปฏิบัติว่าให้ผลดีหรือเสีย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เพราะความผิดพลาดหรือถูกต้องของคนอื่นถือเป็นประสบการณ์โดยอ้อมของเรา
       มีข้อควรคิดว่า ในบรรดาพุทธธรรมคำสอน หากมีคุณธรรมข้อศรัทธาคือ ความเชื่ออยู่ในหลักธรรมคำสอนหมวดใด ในหลักธรรมคำสอนหมวดนั้นจะมีคุณธรรมข้อปัญญาคือ การพิจารณาด้วยเหตุผลกำกับอยู่ด้วยเสมอ เพื่อให้เป็นธรรมสนับสนุนศรัทธาว่า อย่าเชื่ออะไร หรืออย่าเชื่อใคร แต่จงเชื่ออย่างไร เพื่อจะได้ไม่เชื่อผิด ปฏิบัติผิด ทำให้ชีวิตเกิดอัปมงคลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)