วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "มะเร็งในอารมณ์"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท สำหรับในวันนี้นำเสนอเรื่อง "มะเร็งในอารมณ์"
         คำว่า "มะเร็งในอารมณ์" เป็นคำเปรียบเทียบในเชิงของอาการป่วยชนิดหนึ่งที่ไม่สมารถมองเห็นจากอวัยวะภายนอกได้ แม้บางครั้งพูดคุยด้วย เราก็มองไม่ออกว่าคนคนนั้นเป็น "คนป่วย" เพราะคนเป็นมะเร็งในอารมณ์จะไม่มีอาการภายนอกให้เห็น มองเผิน ๆ ก็เหมือนกับคนทั่วไป ลักษณะอาการของคนที่เป็นมะเร็งในอารมณ์นั้น มักแสดงออกด้วยความร้อนรุ่มอยู่ข้างใน เป็นคนขี้กังวล ขี้อิจฉาตาร้อน เห็นคนอื่นดีกว่าตนไม่ได้ ไม่รู้จักคำว่า "ผู้ให้" เพราะต้องการจะเป็น "ผู้รับ" อย่างเดียว จึงส่งผลให้ตลอดชีวิตต้องตกอยู่ในวังวนของความทุกข์ร่ำไป
          ลักษณะอาการของคนป่วยมะเร็งในอารมณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะมีนิสัยที่ไม่ยอมให้อภัยใครง่าย ๆ และชอบที่จะเอาชนะในทุกเรื่อง เพราะคิดว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าคนอื่นในทุก ๆ ด้าน หากเห็นใครได้ดีก็จะพยายามเอาตัวเองไปเปรียบ และหากเอาเปรียบได้ก็จะเอาเปรียบ เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่น คนประเภทนี้จะมีความเครียดอยู่ภายในใจตลอดเวลา และมีพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไม่เคยชมคนอื่น ไม่เคยเห็นความดีของคนอื่น และไม่เคยให้เกียรติคนที่เขาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง หนักเข้าก็กลายเป็นคนหาเรื่องให้คนอื่นต้องเดือดร้อนวุ่นวาย เข้าสังคมไหนก็จะเป็นตัวป่วนให้สังคมนั้น ๆ มีปัญหา
           มะเร็งในร่างกายไม่ว่าจะเกิดที่อวัยวะส่วนไหนของร่างกายก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์สมัยใหม่หรือแพทย์ทางเลือก หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก แต่คนป่วยเป็น "มะเร็งในอารมณ์" นั้น รักษาอย่างไรก็ไม่หาย หากไม่ใช้ธรรมเป็นเครื่องรักษา ดังนั้น ทุกครั้งที่รู้ตัวว่าเราเริ่มมีอาการ "มะเร็งในอารมณ์" เกิดขึ้น ก็จงมีสติบอกตัวเองว่าชีวิตนี้ล้วนตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเกินเลย รู้จักบรรเทาความโลภ ความโกรธ ความหลงให้ได้ เพราะทุกครั้งที่เรามีสติระลึกรู้เท่าทันกิเลสได้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน