กองทัพเรือ โดย พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย และให้ทัพเรือภาคที่ ๓ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยในระดับพื้นที่ทัพเรือภาคที่ ๓ โดยมีการจัดกำลังประกอบด้วย เรือหลวงปัตตานี มีกำลังพลประจำเรือ จำนวน ๘๔ นาย, เฮลิคอปเตอร์ แบบ SUPER LYNX - 300 จำนวน ๑ เครื่อง กำลังพล จำนวน ๑๒ นาย, ชุดปฏิบัติการพิเศษของหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ และชุดประดาน้ำ กำลังพล จำนวน ๙ นาย, เจ้าหน้าที่ชุดแพทย์พยาบาล จำนวน ๓ นาย และเครื่องบินลาดตระเวน แบบดอร์เนียร์ (DO-๒๒๘) จำนวน ๑ เครื่อง ขึ้นบินลาดตระเวนค้นหาทางอากาศทุกวันจนกว่าจะเสร็จภารกิจ
โดยเรือหลวงปัตตานีได้ออกเดินทางจากฐานทัพเรือพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๙.๐๐ น. ขณะนี้เดินทางเข้าพื้นที่ลาดตระเวนและเริ่มค้นหาแล้ว
ตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น. ขณะนี้ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ
นอกจากนี้ กองทัพเรือได้จัดเครื่องบินลาดตระเวนแบบดอร์เนียร์ จำนวน ๑ เครื่อง จากทัพเรือภาคที่ ๒ จังหวัดสงขลา ขึ้นบินลาดตระเวนในพื้นที่ซึ่งเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH 370 ได้ขาดการติดต่อไปเมื่อ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๒.๔๐ น. เพื่อบินลาดตระเวนค้นหาบริเวณฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป
สรุปผลการปฏิบัติเวลา ๑๙.๐๐ น. ของเรือหลวงปัตตานี และเฮลิคอปเตอร์ตรวจการได้ดำเนินการค้นหาในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายครบ ๑๐๐% ยังไม่พบชิ้นส่วนหรือวัตถุบอกเหตุว่าเป็นของเครื่องบิน สำหรับพื้นที่อื่น ๆ ได้รับแจ้งจากเรือ KD salangor/OSC ว่ายังไม่พบสิ่งบอกเหตุใด ๆ
เวลา ๒๒.๑๕ น. เรือหลวงปัตตานี ได้รับรายงานว่าเครื่องบิน P๓ ของประเทศมาเลยเซีย ตรวจพบเสื้อชูชีพบริเวณแบริ่ง ๐๖๐ ระยะ ๖๐ ไมล์ จากขอบบนของเกาะสุมาตรา
เวลา ๐๗.๐๐ น. ทัพเรือภาคที่ ๓ แจ้งว่า เรือ KD salangor เข้าตรวจสอบจุดที่พบเสื้อชูชีพดังกล่าว และไม่พบชิ้นส่วนหรือวัตถุของเครื่องบินพาณิชย์มาเลเซียแต่อย่างใด
(ที่มา : กองประชาสัมพันธ์ สลก.ทร.)