วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเรื่อง "ขอทานกับซาลาเปา"

 กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรมในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ขอทานกับซาลาเปา"
มีเรื่องเล่าว่า ขอทานคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ เนื้อตัวสกปรก มายืนที่หน้าร้านซาลาเปาร้านหนึ่ง ซึ่งขายดิบขายดีมาก มีลูกค้ามาอุดหนุนตลอดทั้งวัน ทำให้ลูกค้าหลายคนพากันแสดงอาการรังเกียจ เดินหนี ลูกจ้างของร้านก็เข้ามาต่อว่า และเอ่ยปากไล่
ขอทานไปให้พ้นร้าน แต่ขอทานก็รีบอธิบายว่า "คุณครับ ผมไม่ได้มาขอทานหรอก แต่จะมาซื้อซาลาเปา" พร้อมกับหยิบเหรียญบาทออกมานับด้วยสองมือ ลูกจ้างของร้านรู้สึกรำคาญ จึงปัดมือของขอทานทำให้เหรียญทั้งหมดตกลงบนพื้น ขอทานตกใจ รีบก้มลงเก็บเหรียญบาทบนพื้น แต่หาอย่างไร ก็ขาดไป ๑ บาท อยู่ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ในสายตาของเถ้าแก่เจ้าของร้านตลอด เขาจึงเดินเข้ามาหาขอทานคนนั้นแล้วพูดว่า "เหรียญ ๑ บาทนี่ คุณทำตกใช่ไหมครับ" ขอทานเงยหน้ามอง เมื่อเห็นเถ้าแก่เจ้าของร้าน จึงเกิดอาการตกใจกลัวไม่กล้าแม้แต่จะรับเงินจากเถ้าแก่ และกำลังจะวิ่งหนีด้วยความลุกลี้ลุกลน แต่ก็ถูกเถ้าแก่เรียกให้หยุด พร้อมพูดว่า "ยินดีต้อนรับครับคุณลูกค้า ไม่ทราบว่าคุณต้องการซาลาเปาไส้อะไร" ขอทานตะลึงงัน ผ่านไปสักพัก จึงตอบกลับไปว่า ไผมอยากได้ซาลาเปาไส้หมู ๑ ลูก" เจ้าของร้านจึงหันไปคีบซาลาเปาไส้หมูมายื่นให้ขอทานอย่างนอบน้อม แล้วหันไปถามลูกจ้างของตนเองว่า "นี่คือวิธีต้อนรับลูกค้าของเธอหรือ ต่อให้เขาเป็นขอทาน เขาก็เป็นลูกค้าของเรา เธอโดนไล่ออกแล้วนะ" จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เจ้าของร้านไล่ลูกจ้างที่ไม่มีจิตวิทยาในการขายออกไปและรับขอทานคนนั้นมาเป็นลูกจ้างใหม่ในร้านแทน เขาขยันขันแข็งจนกลายเป็นที่รักของเจ้าของร้านและเพื่อนร่วมงานทุกคน
         จากเรื่องเล่าที่เป็นอุทาหรณ์ข้างต้น ทำให้เกิดแง่คิดว่า ไม่ควรตัดสินถูกผิดหรือค่าของคนที่ปัจจัยภายนอก บางครั้งสิ่งที่เรามองเห็นภายนอก อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป ลองฝึกเป็นคนที่ให้โอกาสแก่ผู้อื่นดูบ้าง เพราะเชื่อแน่ว่าคนดีในสังคมยังมีมากมาย เพียงแต่เขาอาจจะยังไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความดี ก็เป็นได้ สำหรับผู้ที่มีโอกาสดี ๆ อยู่ในมือแล้ว ก็ควรใช้โอกาสนั้นสร้างความดีให้แก่สังคมส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว ค่าของคนก็อยู่ที่ผลของงาน ค่าของงานอยู่ที่การกระทำความดีนั่นเอง
(ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)