วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "น้ำวิเศษ"

  กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "น้ำวิเศษ"
         ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ๑. ปฐวีธาตุ ได้แก่ ส่วนที่มีลักษณะแข็ง เช่น เล็บ ฟัน กระดูก เป็นต้น ๒. อาโปธาตุ ได้แก่
ส่วนที่เป็นน้ำเหลือง เลือด น้ำหนอง น้ำดี เป็นต้น ๓. เตโชธาตุ ได้แก่ส่วนที่เป็นความร้อนในร่างกาย เป็นต้น และ ๔. วาโยธาตุ ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบนและลงเบื้องต่ำ เป็นต้น ผู้รู้บางท่านได้เพิ่มธาตุที่ห้าเข้าไปด้วย ได้แก่ อากาศธาตุ หมายถึง ส่วนที่เป็นที่ว่างระหว่างอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์
          โดยธรรมชาติของน้ำเป็นสิ่งที่มีลักษณะเย็นเอิบอาบหลอมรวมประสาน และไหลลงสู่ที่ต่ำในสังคมมนุษย์คนเราเมื่อคบกัน ได้ติดต่อพบปะ พูดคุย สังสรรค์สนทนากัน ก็ต้องแสดงออกซึ่ง "นิสัยใจคอ" การคบมิตร การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ต้องอาศัยน้ำวิเศษชนิดหนึ่งนั่นก็คือ "น้ำใจ" ซึ่งถือเป็นธาตุหนึ่งในธาตุทั้ง ๔ ที่สำคัญยิ่ง
           ลักษณะที่สำคัญของน้ำใจคือ ทำให้เป็นคนไม่เห็นแก่ได้อยู่ฝ่ายเดียว ไม่เป็นคนใจจืดใจดำ แต่เป็นคนใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเจือจุนแก่ผู้ที่ด้อยฐานะกว่าตน ไม่ดูถูกดูหมิ่นบุคคลอื่น แต่มีความสุภาพอ่อนน้อมเป็นพื้นนิสัย มีความกตัญญูกตเวที รู้คุณคน และสิ่งอื่น ๆ ที่มีบุญคุณแก่ตน และคิดหาทางตอบแทนบุญคุณให้แก่ผู้ที่มีพระคุณแก่ตนเองอยู่เสมอ น้ำชนิดนี้จึงจัดเป็นน้ำวิเศษ
           ดังนั้น เมื่อเกิดเป็นคนจึงควรมีน้ำวิเศษ คือ น้ำใจ ปรุงแต่งใจไว้ให้ดีเสมอ อย่าแล้งน้ำใจ ควรมีลักษณะดังคำกล่าวที่ว่า "คอยสอดคอยส่อง คอยมองคอยเมียง บ้านใกล้เรือนเคียง คอยเรียกขาน ไต่ถามยามทุกข์ ข้าวสุกข้าวสาร ขาดเหลือเจือจาน กันด้วยน้ำใจ เมตตาอารี มีความเอื้อเฟื้อ พริกอยู่บ้านเหนือ เกลืออยู่บ้านใต้ พี่ให้ไก่มา น้องเอาปลาไป วิสัยคนไทย ย่อมมีเมตตา และว่า น้ำบ่อน้ำคลอง ก็ยังเป็นรองน้ำใจ น้ำไหนไหนก็สู้น้ำใจ ไม่ได้" นั่นแล (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)