วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรม เรื่อง "ฉันทะกับตัณหา"

กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ จัดทำบทความทางศีลธรรมและวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ให้กำลังพลได้ทราบถึงหลักธรรม ในการดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท           ในวันนี้นำเสนอเรื่อง "ฉันทะกับตัณหา"
คำว่า ฉันทะ แปลว่า พอใจ รักใคร่ หมายถึง พอใจรักใครในงานที่รับผิดชอบ ส่วนตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก คือ ทะยานอยากในสิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ ในสิ่งที่อยากเป็น และในสิ่งที่อยากไม่เป็น ทั้งสองนี้ให้ผลแตกต่างกัน กล่าวคือ ฉันทะ ช่วยให้คนปฏิบัติประสบความสำเร็จในการทำงานเวลานำไปใช้จะต้องมีวิริยะ คือ ความเพียรในงาน มีจิตตะ คือ ความมีใจจดใจจ่อในงานและมีวิมังสา คือ ความตริตรองพิจารณางาน กำกับควบคู่ไปด้วย จึงจะทำให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อย ส่วนตัณหาเป็นกิเลสที่ก่อปัญหาให้แก่ชีวิตมากมาย นำความทุกข์มาสู่มนุษย์นานัปการ พุทธศาสนาจึงสอนว่าให้ละให้คลายหรือควบคุมตัณหาให้อยู่ในขอบเขต หาไม่แล้วก็ยากที่จะพ้นจากทุกข์ภัยต่าง ๆ ได้
        อย่างไรก็ตาม ตัณหาแม้จะเป็นกิเลสที่จำต้องสละหรือใช้สติควบคุมให้อยู่ในอำนาจก็ตามแต่ใน ชีวิตจริงนั้น เราก็สามารถนำตัณหามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง เช่น เร่งเร้าให้เกิดความอยากได้ในวัตถุเพื่อให้คนขยันทำงาน เพิ่มค่าตอบแทน เพื่อให้มีกำลังใจทำงานมากขึ้น หรือให้คำมั่นว่าจะให้ความดีความชอบหากทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งสำเร็จ เป็นต้น การนำตัณหามาใช้ประโยชน์ โดยมีเงื่อนไขที่วัตถุ ค่าตอบแทน และความดีความชอบเช่นนี้ อาจเกิดปัญหาได้ เพราะหากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คนก็จะไม่ยอมทำงาน สำหรับ ฉันทะ นั้น เป็นกิริยาที่แสดงออกถึงการรักงานอย่างไม่มีเงื่อนไข และเป็นทุกข์ด้วยซ้ำไปหากมีผู้หยิบยื่นเงื่อนไขหรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยว ข้อง
         ผู้หวังความสุขและความสำเร็จที่แท้จริงในการทำงาน พึงสละตัณหาในการทำงานออกจากใจ และเสริมให้ฉันทะเข้าแทนที่ หากทำได้เช่นนี้รับรองว่าจะประสบกับความเจริญก้าวหน้าในการทำงานที่มั่นคง และยั่งยืนอย่างแน่นอน (ที่มา : อศจ.ยศ.ทร.)