วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'โซนาร์'กองทัพเรือไทยตัวช่วยหาซาก'แอร์ลาว'


'โซนาร์'กองทัพเรือไทยตัวช่วยหาซาก'แอร์ลาว' : รายงาน
              ภารกิจการค้นหาซากเครื่องบินโดยสารรุ่น เอทีอาร์-72 ของสายการบินลาว และร่างผู้เสียชีวิตที่คาดว่าจะสูญเสียทั้งลำ จำนวน 49 ศพ ยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากอุปสรรคในลำน้ำโขงที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก และขุ่นข้นจนมองไม่เห็นวัตถุใดๆ ใต้น้ำ ดังนั้น การค้นหาใต้น้ำจึงต้องใช้ตัวช่วย คือ อุปกรณ์โซนาร์ (SONAR) ที่ใช้หลักการการสะท้อนเสียงของวัตถุใต้น้ำเพื่อช่วยค้นหา
              ผู้เชี่ยวชาญในกองทัพเรือไทยให้ข้อมูลว่า สำหรับภารกิจการค้นหาในครั้งนี้ใช้โซนาร์ 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดก็มีลักษณะการทำงาน และคุณสมบัติในการค้นหาแตกต่างกันออกไป ดังนี้
              1.Side scan sonar ซึ่งมีตัวเครื่องรูปร่างหน้าตาคล้าย "จรวด" โดยมีอุปกรณ์หลักประกอบด้วย ตัวเครื่อง และสายเชื่อมต่อ โดยหลักการทำงาน คือ เวลาใช้งานต้องทิ้งตัว Side scan sonar ลงไปในน้ำ แล้วใช้เรือผิวน้ำลากไปเรื่อยๆ เพื่อให้เครื่องสแกนหาวัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำ เมื่อเจอวัตถุแล้ว ตัวเครื่องจะส่ง "สัญญาณเตือน" เพื่อ "กำหนดพิกัด" ได้อย่างแม่นยำ
              สำหรับความยาวของสายลากมี 3 ขนาด คือ 23, 45 และ 60 เมตร ที่ความเร็วไม่เกิน 2-3 นอต น้ำหนักตัวเครื่อง 4.5 กิโลกรัม
              2.เครื่องค้นหาวัตถุใต้น้ำ หรือโซนาร์รุ่น ดีเอชเอส-100 เป็นเครื่องโซนาร์แบบ "มือถือ" สำหรับให้นักประดาน้ำถือลงไปใต้น้ำเพื่อค้นหาวัตถุ โดยมีหลักการค้นหา 2 แบบ คือ Active และ Passive โดยการค้นหาแบบ Active จะมีการสะท้อนความถี่ของเสียงลงไปใต้น้ำ เมื่อเจอวัตถุแล้วเครื่องจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนเป็นสัญญาณภาพแบบ 3 มิติ มีระยะค้นหา 3 ระยะ คือ 20, 60 และ 120 หลา
              ส่วนการค้นหาแบบ Passive จะมีการส่งคลื่นความถี่ในระดับเดียวกับกล่องบันทึกข้อมูลการบิน หรือ "กล่องดำ" ของเครื่องบิน เมื่อเครื่อง ดีเอชเอส-100 เข้าใกล้กล่องดำ สัญญาณของเครื่องมือทั้งสองก็จะจูนเข้าหากันโดยอัตโนมัติ โดยมีความลึกในการทำงาน 600 ฟุต
               สรุปแล้ว นี่ก็คือเครื่องมือที่ใช้ค้นหากล่องดำของเครื่องบิน เพื่อ "ไขปริศนา" สาเหตุการตกที่แท้จริงของเครื่องบินนั่นเอง !!
              3.Jack sonar มีรูปร่างหน้าตาคล้าย "ก้างปลา" หลักการทำงานคล้าย side scan sonar คือ ผูกโซนาร์ก้างปลาเข้ากับเรือผิวน้ำ แล้วลากไปเรื่อยๆ เพื่อให้คลื่นความถี่จากก้างปลากระทบกับวัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำ มักใช้ค้นหากับวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งในที่นี้ก็คือ "ซากเครื่องบิน"
              อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าอุปสรรคสำคัญในการค้นหาครั้งนี้ คือ กระแสน้ำที่แรง และความขุ่นข้นของน้ำ เพราะอุปกรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นล้วนมีคุณสมบัติเหมาะสม "ในทะเล" ทั้งสิ้น โดยกระแสน้ำในทะเลแม้จะไหลแรงเป็นบางครั้ง แต่น้ำทะเลมีความใส สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ขุ่นข้นจนมองไม่เห็นแม้แต่ฝ่ามือตัวเองเหมือนในแม่น้ำ การค้นหาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
......................
(หมายเหตุ : 'โซนาร์'กองทัพเรือไทยตัวช่วยหาซาก'แอร์ลาว' : รายงาน)